ต้นเเบบสุขภาพ ช่วยจูงใจลดเบาหวาน
ต้นเเบบสุขภาพ ของผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องยกให้คนนี้ครับ
หลังจากผ่าตัดนิ่วในไตไปเมื่อห้าปีที่แล้ว คุณคนอง ศรีลาศักดิ์ (ปัจจุบันอายุ53 ปี) ก็เผชิญกับอาการแทรกซ้อน รวมถึงระดับน้ําตาลในเลือดสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อราวสี่ห้าเดือนที่ผ่านมา เขาเริ่มมีอาการตามัวและบําบัดด้วยการตัดแว่นมาสวม หากอาการยังไม่ทุเลา จึงไปพบหมอที่โรงพยาบาลดอนตาล
ซึ่งตรวจพบว่าระดับน้ําตาลในเลือดสูงถึง 270 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ด้วยความกลัวตาบอดหรือตัดขา เช้าวันต่อมาคุณคนองจึงพลิกพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังมือ เริ่มวิถีชีวิตใหม่
“วันนั้นผมหยิบบุหรี่ออกมากองไว้เบื้องหน้าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล แล้วก็บอกว่า บุหรี่…มึงไปตามทางของมึง กูไปตามทางของกู กลับไปบ้านก็ลดน้ําตาลและอาหารรสหวาน กินผักเป็นหลัก หมอบอกให้กินวันครึ่งกิโล (กรัม) ผมก็กินมากกว่านั้น โดยเป็นผักที่ลงมือปลูกเองในบริเวณบ้าน
“เรื่องออกกําลังกายนั้น ผมก็ตื่นแต่เช้า วิ่งรอบวัดให้ได้วันละครึ่งชั่วโมง ตอนกลางวันว่างๆก็ไปเต้นแอโรบิก ฮูลาฮูปกับกลุ่มแม่บ้าน”
ภายในเวลาสามเดือน น้ําหนักของคุณคนองลดลงเกือบ 10 กิโลกรัม และระดับน้ําตาลในเลือดก็ลดลงเหลือ 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สร้างความตื่นตะลึงให้หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเพื่อนผู้ป่วยเบาหวานบ้านนาหว้า… คุณคนองทําได้อย่างไรกันนี่
ในบัดดล เขาจึงเป็นบุคคลต้นแบบในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้รับมอบหมายให้ช่วยชักชวนเพื่อนบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เพื่อสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อประกอบกับเป้าหมายของผู้นําหมู่บ้านที่ต้องการเห็นทุกคนมีสุขภาพดี เพื่อนผู้ป่วยเบาหวานก็ยินดีดําเนินรอยตามวิถีชีวิตของคุณคนองอย่างไม่รีรอ
5 สเต็ปชวนเพื่อนลดน้ำตาล ของคุณคนอง ศรีลาศักดิ์
1. ชักชวน โดยไปเยี่ยมเพื่อนถึงบ้าน และบอกให้ปรับพฤติกรรมการกินและการออกกําลังกายตามตนเอง
2. ถ้าเพื่อนยังไม่ปรับพฤติกรรมหรือทําไม่ถูกต้อง ก็เริ่มยกตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนต้องตัดแขนขา ตาบอด หรือเสียชีวิต
3. ถ้าเพื่อนยังไม่ปรับอะไรเลยก็เริ่มถามหาปัญหาและอุปสรรค
4. ช่วยแนะนํา แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
5. ไม่ย่อท้อ หากจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่สเต็ปแรกอีกครั้ง
ผู้นําดี ลูกบ้านหายเบาหวาน เมื่อการปกครองส่วนท้องถิ่นกระจายอํานาจให้ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้นําหมู่บ้าน สามารถวางยุทธศาสตร์การปกครองลูกบ้านเอง คุณนงค์ บุทธิจักร์จึงค้นหาปัญหาของชุมชน เพื่อวางแผนและหาวิธีการที่จะพาชุมชนไปสู่เป้าหมายนั้น ปัญหาที่พบคือ ลุงป้าน้าอาเพื่อนพี่น้องป่วยด้วยโรคเรื้อรังกันมาก คุณนงค์จึงตั้งใจจะให้บ้านนาหว้าเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค ด้วยวิธีการดังนี้
– ประสาน ของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตําบลและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อขออนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญมาสอนทุกคนในหมู่บ้าน เช่น จากกรมวิชาการเกษตร เรื่องการปลูกผักสวนครัว จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เรื่องการทํากระถางผักจากยางรถยนต์เก่า และจากโรงเรียนเรื่องการออกกําลังกายประเภทต่างๆ
– ประชาสัมพันธ์ โดยแบ่งหน้าที่ให้อสม.ดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบใกล้ชิด สัดส่วน 1 : 1 เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องโรคและวิธีการเยียวยาบําบัดอย่างถูกต้อง
– เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานในการทํากิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกําลังกาย และการคลายเครียดกว่าสองปีที่ลงมือปฏิบัติเพื่อสังคมอย่างตั้งใจและทุ่มเท ทุกคนในชุมชนให้ความร่วมมือ
เป้าหมายของคุณคนองจึงสัมฤทธิผล จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆรวมทั้งโรคเบาหวานก็ลดลงถึง75 เปอร์เซ็นต์ บ้านนาหว้าจึงได้รับยกย่องให้เป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคดีเด่นปีพ.ศ.2552 และ 2553
อยากพิฆาตเบาหวานให้สิ้นซาก ลองทำตาม ต้นเเบบสุขภาพ ลงมือทําตามเคล็ดลับเหล่านี้ดูสิ
ที่มา: คอลัมน์เรื่องพิเศษ,เอื้อมพร และพรรณรวี
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate