วิธีป้องกันเบาหวาน จากพันธุกรรม ป้องกันได้ ชัวร์
วิธีป้องกันเบาหวาน จากพันธุกรรมเป็นอะไรที่เราสามารถป้องกันได้นะ ใช่ว่าพ่อเเม่ปู่ย่าตายาเป็นโรคเบาหวาน แล้วเราจพต้องยอมจำนนเป็นโรคเบาหวาน เเต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเราต่างหาก
เบาหวานจากพันธุกรรม
“ที่บ้านเป็นตระกูลเบาหวาน พ่อ ปู่ ลุง และอาๆเป็นกันทุกคน สงสัยว่าตัวเองคงไม่รอด”
คุณประนอม น้อมเพชร อายุ 35 ปี เล่าให้ฟัง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้เธอไปตรวจสุขภาพ พบว่า ระดับน้ําตาลในเลือดอยู่ที่ 105 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สูงเกือบแตะเพดานค่ามาตรฐาน (ค่าระดับน้ําตาลในเลือดปกติอยู่ระหว่าง 70 – 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
จึงทําให้เริ่มกังวลว่าจะได้รับ“มรดกโรคร้าย”มาไว้ในครอบครองเสียแล้วเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณผู้อ่านจะกังวลว่า เราอาจจะป่วยเป็นเบาหวานตามสายตระกูลของเรา แต่ไม่อยากให้กังวลจนคิดยอมแพ้ปล่อยปละละเลยสุขภาพ เพราะถึงแม้จะมีปู่ ย่า ตา ยายเป็นเบาหวาน แต่เราก็มีวิธีป้องกันตัวไม่ให้เป็นทายาทมรดกโรคร้ายนี้ได้
จริงหรือ พ่อแม่เป็น เราต้องเป็น
จริงอยู่ที่มีรายงานทางการแพทย์ระบุว่า เบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรม คือมีโอกาสถ่ายทอดจากพ่อแม่มายังลูกหลานได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครฟันธงลงไปได้ว่า ถ้าพ่อแม่เป็นเบาหวาน ลูกต้องเป็นเบาหวานด้วยแน่นอน
นายแพทย์วินัย ศรีสะอาด แพทย์ประจําชีวจิตโฮมคลินิก อธิบายเรื่องนี้ว่า “ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของโรคทางพันธุกรรม (Genetic Disorder) ว่า คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีน (Gene) หรือโครโมโซม (Chromosome) ตั้งแต่แรกเกิดหรือปฏิสนธิ หรืออาจเกิดความผิดปกติในภายหลัง มีทั้งที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานและไม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้
“สําหรับเบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปยังลูกหลานได้ แต่การจะฟันธงลงไปเลยว่า ถ้าพ่อแม่เป็นเบาหวานลูกหลานต้องเป็นด้วย ไม่ใช่อย่างนั้นแน่นอน เพียงแต่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป”
คุณหมอวินัยอธิบายว่า ยีนผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้นี้เป็นยีนที่ทําให้เซลล์ตับอ่อน ซึ่งทําหน้าที่ในการผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทํางานผิดปกติ ดังนั้น ผู้ที่มียีนดังกล่าวจึงมีโอกาสเสี่ยงจะเป็นเบาหวานมากกว่าคนทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มียีนนี้ต้องเป็นเบาหวาน คุณหมอวินัยอธิบายว่า
“โรคเบาหวานคือความผิดปกติของระดับน้ําตาลในเลือด การมียีนเบาหวานเพียงแต่ทําให้อวัยวะที่เกี่ยวพันกับการควบคุมระดับน้ําตาลทํางานผิดปกติ ดังนั้น ถ้าผู้ที่มียีนเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ําตาลในเลือดได้ ก็เท่ากับว่าเขาจะไม่ป่วยเป็นเบาหวาน”
คุณหมอวินัยยังให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า สาเหตุการป่วยเป็นเบาหวานของคนส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการมียีนเบาหวาน แต่เกิดจากพฤติกรรมการกิน ขาดการพักผ่อนและออกกําลังกายไม่อยากรับมรดกเบาหวาน ป้องกันได้อย่างไร ผู้ที่มีสายตระกูลเป็นเบาหวานและไม่อยากรับมรดกโรคร้าย คุณหมอวินัยแนะนําว่า
“อันดับแรก อย่าคิดยอมแพ้ชะตากรรม อย่าคิดว่า ถ้าพ่อแม่ป่วย ฉันต้องป่วยด้วย เพราะแต่ละคนทํากรรมหรือจะเรียกว่ามีพฤติกรรมต่างกันก็ได้ ถ้าเราทํากรรมดีหรือมีพฤติกรรมดี เราก็จะไม่เจอสิ่งเลวร้าย
“อาจคิดว่า เราโชคดีที่ได้รู้ว่าต้องดูแลตัวเองเสียแต่เนิ่นๆเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมการกิน บางครอบครัวติดกินหวาน เรารู้แล้วนี่ว่า ถ้ายังกินหวาน บั้นปลายชีวิตอาจต้องป่วยเป็นเบาหวานเหมือนพ่อแม่ได้ เมื่อเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี เราก็ควรหยุดเสีย กินหวานให้น้อยลง ไม่กินอาหารไขมันสูงที่ทําให้อ้วน และต้องหมั่นออกกําลังกายด้วยอย่างนี้เป็นต้น”
เช่นเดียวกับคุณประนอมที่หลังจากไปตรวจสุขภาพมาแล้ว เธอกลับมาปรับไลฟ์สไตล์ตัวเองใหม่ทั้งหมดโดยเฉพาะการติดอาหารหวาน จากเมื่อก่อนต้องเติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยวชามละสองช้อนโต๊ะ เธอพยายามลดลงทีละน้อย จนเดี๋ยวนี้ใส่เต็มที่ก็แค่ครึ่งช้อนชา
เน้นกินอาหารที่มีใยอาหารละลายน้ำ ซึ่งได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ถั่วชนิดต่างๆ แอ๊ปเปิ้ล และสตรอว์เบอร์รี่ เพราะอาหารที่มีใยอาหารละลายน้ำ
กลุ่มนี้จะช่วยดูดซับไขมันและน้ำตาลบางส่วนออกจากร่างกายได้ นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพก็เป็นสิ่งสําคัญสําหรับผู้มีสายตระกูลเป็นเบาหวาน คุณหมอวินัยแนะนําว่า
“ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานแนะนําให้ไปตรวจสุขภาพเพื่อเช็กระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไม่จํากัดว่าต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กวัยรุ่นที่กินหวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเรียกว่าไม่ดูแลสุขภาพเลย ยิ่งควรจะไป เพราะจะได้เป็นการเช็กแนวโน้มการเจ็บป่วยเบื้องต้น ถ้าระดับน้ำตาลเริ่มสูงแล้วก็ต้องตระหนักรู้ว่า ต้องหันมาดูแลตัวเองโดยด่วนเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตอันใกล้”
ไม่อยากรับมรดกเบาหวานรีบดูแลตัวเองเสียแต่เนิ่น ๆ
โรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน
ป่วยเมื่อไรอันตรายไม่ต่างกันหากพูดถึงความรุนแรงของโรคเบาหวาน ในคนที่มีพันธุกรรมเบาหวานเทียบกับคนทั่วไปนั้น คุณหมอวินัยบอกว่า ผู้ที่มีพันธุกรรมเบาหวานจะมีโอกาสป่วยเป็นเบาหวานเร็วกว่าคนทั่วไป ส่วนอาการและความรุนแรงของโรคนั้นไม่แตกต่างกัน หากดูแลตัวเองไม่ดี ปล่อยให้ระดับน้ําตาลในเลือดมีปริมาณสูงมาก ๆ ผู้มีพันธุกรรมและคนทั่วไปจะตกอยู่ในอันตรายไม่ต่างกัน โดยจะทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย เช่น
ภาวะแทรกซ้อนทางตา ทําให้หลอดเลือดเล็กๆในลูกตาหนาตัว เปราะ และฉีกขาดง่าย โดยหลอดเลือดที่ฉีกขาดจะสร้างแขนงของหลอดเลือดใหม่ขึ้นมามากมายจนบดบังแสงที่ผ่านเข้ามากระทบจอตา จึงทําให้การมองเห็นแย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนทางไต ทําให้หลอดเลือดของไตทํางานผิดปกติ ไม่สามารถกรองและดูดสารบางชนิดกลับสู่ร่างกายได้ นํามาสู่ภาวะไตวาย
ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ทําให้เส้นประสาทบริเวณปลายเท้าผิดปกติ เมื่อเกิดแผลผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกเจ็บป่วยและไม่ยอมดูแลแผลประกอบกับมีระดับน้ําตาลในเลือดสูง จึงทําให้แผลเน่าง่าย นํามาสู่การถูกตัดขา
ไม่อยากรับมรดกเบาหวานรีบหา วิธีป้องกันเบาหวาน และดูแลตัวเองเสียแต่เนิ่น ๆ
ที่มา : คอลัมน์ Healthy Lifestye ,ชมนาด
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate