4 วิธีบำบัด โรคเบาหวาน โดยไม่ต้องพึ่งยา

4 วิธีบำบัด โรคเบาหวาน โดยไม่ต้องพึ่งยา

ทำไมต้อง โรคเบาหวาน

หากเอ่ยถามถึงที่มาที่ไปของ โรคเบาหวาน หลายคนเข้าใจผิด และคิดว่าสาเหตุเกิดจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งความจริงตัวน้ำตาลไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคนี้ หากแต่การกินน้ำตาลมากไปนั้นเป็นผลทำให้เกิดโรคอ้วน แล้วนำมาซึ่งโรคเบาหวานได้นั่นเอง อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้บอกเล่าถึงสาเหตุของโรคที่ไม่ใช่โรคอย่างเบาหวานไว้ว่า

“เบาหวาน” หรือ DIABETES MELLITUS หรือเรียกสั้นๆ ทางภาษาแพทย์ว่า DM นี้ เป็นโรคซับซ้อน (COMPLEX) ที่ว่าซับซ้อนนี้หมายความว่า จะมีอาการต่างๆ หลายอาการมารวมกัน สาเหตุประการแรกนั้นเกิดจากตับอ่อนทำงานไม่ได้ตามปกติ คือไม่สามารถจะขับฮอร์โมนอินซูลินออกมา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของเราได้ สาเหตุประการที่สองก็คือ ถ้าหากว่าตับอ่อนสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆ ซึ่งเป็นผู้รับฮอร์โมนอินซูลิน ไม่ยอมรับอินซูลินเข้าไปในเซลล์ ปริมาณน้ำตาลในเลือดของเราก็ไม่มีอะไรมาควบคุม ปริมาณน้ำตาลจึงขึ้นสูง หรือขึ้นๆ ลงๆ ได้ตามชอบใจ

 

เบาหวานยังสามารถแบ่งเป็นชนิดหรือ TYPE ได้เป็น 4 TYPE ได้แก่

1. ชนิดที่หนึ่งหรือ TYPE I คือ เบาหวาน ซึ่งต้องใช้อินซูลินหรือให้อินซูลินเป็นประจำ หรือเบาหวาน ซึ่งมีอาการมาตั้งแต่เด็ก หรือเบาหวานซึ่งจะทำให้สารคีโตน (KETONE) ในร่างกายสูงขึ้น และทำให้เกิดอาการกรดในร่างกายสูง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

2. ชนิดที่สอง TYPE II คือเบาหวานที่ไม่ต้องใช้อินซูลินเป็นประจำ หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “เบาหวานในผู้ใหญ่” เนื่องจากพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อีกทั้งส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่น้ำหนักมากเกินควร

3. ชนิดที่สาม TYPE III มักจะเกิดกับสตรีซึ่งกำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้วอาการ DM จะหายไป แต่ก็มีบางคน DM กลับเกิดขึ้นมา กลายเป็นประเภท TYPE II ได้

4. ชนิดที่ 4 TYPE IV จะเป็นชนิดนอกเหนือไปจาก 3 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว มักจะเกิดโรคเกี่ยวกับตับอ่อนโดยเฉพาะ หรือเกิดจากอาการที่เกี่ยวกับฮอร์โมนผิดปกติ หรือเกิดจากการแพ้ยาหรือกินยาผิดขนาดนานเกินไป หรือเกิดจากความพิการทางยีน (GENE)

 

ของแถมจากโรคเบาหวาน อาการร่วมของคนที่เป็นเบาหวานหรือ DM มักจะมีอาการสำคัญอื่นๆ ประจำตัวร่วมด้วย คือ

1. ความดันโลหิตสูง ข้อนี้ไม่น่าสงสัย ผู้ที่เป็น DM มักจะมีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ความดันโลหิตจึงสูงตามไปด้วย

2. มีอาการทางโรคหัวใจ เมื่อมีความดันโลหิตสูงบวกกับอาการน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีอาการเพลียประจำตัว การเต้นของหัวใจผิดปกติ หลายคนที่เป็น DM มักจะคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ

3. ปวดข้อและกล้ามเนื้อ หรือมีอาการของ ARTHRITIS ซึ่งก็คือข้อต่ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ บางคนอักเสบรุนแรงมาก ข้อต่อบวมอักเสบจนเดินไม่ได้

4. อาการปวดทั้งตัว (FIBROMYALGIA) ปวดแบบนี้ไม่ใช่ปวดตามข้ออย่างเดียว แต่ปวดไปทั้งตัว ปวดกล้ามเนื้อ และปวดหัว บางครั้งมีอาเจียนด้วย

แม้จะกินยาหรือฉีดยาแก้อาการเบาหวานแล้ว แพทย์ก็มักจะให้ยาอื่นๆ ควบไปด้วย เพื่อแก้อาการนั้นๆ ซึ่งยาต่างๆ ก็อาจส่งผลข้างเคียงขึ้นมาได้

 

บำบัดเบาหวานด้วยวิธีธรรมชาติ

 

1. ปรับเปลี่ยนอาหาร

 

 

เลือกทานอาหารตามสูตร 2 ของชีวจิต

เบาหวาน เป็นหนึ่งในโรค “กลุ่ม” ซึ่งมีพื้นฐานและสาเหตุเนื่องมาจากความอ้วน (โรค “กลุ่ม” นี้ได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของถุงน้ำดี โรคปวดข้อ หรือ Arthritis โรคความดันโลหิตสูง) เพราะโรคเหล่านี้เกิดจากเรากินอาหารผิดวิธีและผิดส่วน เราก็ต้องแก้ที่อาหาร กินอาหารให้ถูกประเภทและถูกสัดส่วนเสียก่อน

 

ควบคุมเบาหวานด้วยสูตรอาหารง่ายๆ

– อาหารกลุ่มแป้ง ควรควบคุมปริมาณอาหารในหมวดแป้งและน้ำตาล และถ้าให้ดีควรเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท หรือแป้งที่ไม่ขัดสีมากกว่าขัดขาว เพราะร่างกายจะย่อยและดูดซึมได้ช้ากว่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงเร็ว

 

 

– ผัก ให้รับประทานผักให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักใบเขียวเข้มและมีเส้นใยสูง เพราะผักมีแป้งอยู่น้อย น้ำตาลจึงขึ้นช้า นอกจากนี้ ใยอาหารสูงจากผักช่วยทำให้อิ่มท้อง กินอาหารได้น้อยลง จึงช่วยในการลดน้ำหนัก ส่งผลให้อินซูลินทำงานดีขึ้น จึงช่วยลดความรุนแรงของเบาหวานลงได้

 

 

– ผลไม้ กินผลไม้ได้ แต่ต้องระวังปริมาณไม่ให้มากเกินไป ไม่ควรกินผลไม้รสหวานจัด และไม่ควรกินครั้งละมากกว่า 1 ส่วน สามารถกินได้วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง

 

 

– เนื้อสัตว์ ควรเลือกทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา หรือทดแทนด้วยโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้ง หรือเต้าหู้

 

 

– สิ่งควรหลีกเลี่ยง ควรเลี่ยงไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ และระวังไม่ใช้น้ำมันในการประกอบอาหารมากเกินไป การลดอาหารไขมันจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น ควรลดอาหารเค็ม เพื่อป้องกันความดันเลือดสูงและไตเสื่อม และหลีกเลี่ยงการกินขนม ของหวาน หรืออาหารทุกชนิดที่ใส่น้ำตาลในการปรุงอาหารโดยไม่จำเป็น

 

 

 

2. ดื่มน้ำเอนไซม์จากผักผลไม้

 

น้ำเอนไซม์จากพืชผักผลไม้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของร่างกาย และเอนไซม์ในร่างกายที่มีอยู่เดิม ซึ่งเอนไซม์ในผักผลไม้แต่ละชนิดก็มีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป

 

 

3. สมุนไพรเป็นยาบำบัด สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

 

ชา โสม มะระ ทั้งมะระขี้นกและมะระจีน โดยใช้เนื้อมะระตากแห้ง ชงน้ำเป็นชาสมุนไพรดื่ม ใบสัก หั่นใบแล้วนำมาคั่ว ผสมกับใบเตย ชงน้ำดื่ม ตำลึง ใช้ใบและเถาต้มน้ำดื่ม เพื่อลดน้ำตาลในเลือด สมุนไพรอื่นๆ ที่มีรายงานเกี่ยวกับการลดน้ำตาลในเลือดมีอยู่หลายชนิด เช่น กระเทียม ว่านหางจระเข้ เห็ดหลินจือ ใบอินทนิลน้ำ ใบหม่อน เป็นต้น แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรก่อนใช้บำบัด เนื่องจากบางชนิดยังไม่มีผลพิสูจน์อย่างเป็นทางการ

 

 

4. การปฏิบัติตัวช่วยสร้างสุขภาพดี

 

มีการปฏิบัติตัวหลายอย่างซึ่งเป็นตัวช่วยในการรักษาโรค เช่น การนวด การบริหารร่างกาย และการออกกำลังกาย การฝังเข็ม และการนั่งสมาธิ เป็นต้น ข้อปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อสุขภาพที่ดี ได้แก่

การออกกำลังกายให้ถึง PEAK โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานแล้วเป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะขาดไม่ได้ การออกกำลังกายนั้นมีหลายรูปแบบ อาทิ แอโรบิก โยคะ หรือการรำกระบองตามแบบชาวชีวจิต เป็นต้น

 

การล้างท็อกซิน ก็คือ การกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ได้แก่ การทำดีท็อกซ์ การอบไอน้ำหรือซาวน่า การออกกำลังกายบริหารและการนวด การใช้ยาหรือสมุนไพรและเอนไซม์ และสุดท้ายคือการถ่ายเลือด สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับสุขภาพทางกาย ให้ทำควบคู่ไปกับสุขภาพทางจิตนั่นคือ

การนอนและทำตัวให้ผ่อนคลาย (RELAXATION)

 

การทำสมาธิ เป็นการทำสมาธิเพื่อสุขภาพ ถือเป็นการชำระล้างท็อกซินให้จิตใจของเรา

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คือ ปัญจกิจพื้นฐานของภูมิชีวิต มีอยู่ 5 อย่าง คือ กินให้ถูก นอนให้ถูก ทำงานให้ถูก พักผ่อนให้ถูก และออกกำลังกายให้ถูก เพราะสุขภาพของเราจะดีขึ้นได้นั้น ย่อมต้องมาจากร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่เข้มแข็งค่ะ

 

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate