ประสบการณ์สุขภาพ รอดตายจาก เบาหวาน
เบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะการกินผิดและขาดการออกกำลังกาย แม้พันธุกรรมจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคแต่หากดูแลสุขภาพดีๆ คนที่มีพันุธกรรมเบาหวานก็อาจไม่ป่วยด้วยโรคเบาหวานในทางกลับกัน แม้ไม่มีพันธุกรรมโรคนี้ แต่ใช้ชีวิตผิดก็ป่วยด้วยโรคเบาหวานกันเป็นทิวแถว
ดังนั้นเมื่อถูกเบาหวานคุกคามแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นไม้ตายที่จะช่วยสยบเบาหวานได้ และต่อไปนี้คือ 5 ประสบการณ์ที่ ชีวจิต อยากแชร์เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน มีกำลังใจลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเพื่อเอาชนะเบาหวานไปด้วยกันค่ะ
กินอาหารออร์แกนิกพิชิตเบาหวาน
ย้อนไป 6 – 7 ปีก่อน คุณป้าแป๊ว แสนจะดื้อรั้นกับมัจจุราชที่ชื่อเบาหวานในแบบที่ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพียงขอให้ได้กินอยู่ตามที่ตัวเองโปรดปราน
“ครั้งแรกที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ตอนนั้นน้ำหนักเกิน 72 กิโลกรัมหมอบอกว่าให้คุมอาหาร เราก็ไม่ทำ บอกหมอไปว่า ฉันทำไม่ได้หรอก เพราะเช้ามาต้องกินโอเลี้ยง ตามด้วยขนม ปาท่องโก๋ ขนมครก เค้กนี่ปาดกินแต่หน้าเลย กับข้าวก็ชอบของทอด ชอบกินหมูสามชั้น ปลาก็กินไม่เป็นผักก็กินไม่เป็น อาหารทุกอย่างต้องสั่งพิเศษ ธรรมดาไม่เอา น้ำเปล่าธรรมดาก็ไม่ดื่ม ดื่มแต่น้ำหวานและน้ำอัดลม”
ด้วยพฤติกรรมการกินแบบฮาร์ดคอร์และไม่คิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวันหนึ่งป้าแป๊วจึงมีอาการเข้าขั้นโคม่า
“วันนั้นตื่นขึ้นมาตอนเช้ามืดรู้สึกว่าเวียนหัวมาก อาเจียนด้วย ปัสสาวะราดลูกๆ พาไปหาหมอ ตรวจน้ำตาลขึ้นถึง 200 แล้วยังพบว่ามีไขมันเกาะตับและตับอักเสบด้วย หมอให้ยามากิน ซึ่งต่อมาปริมาณยาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังคุมไม่ได้ จนต้องฉีดอินซูลินเข้าที่หน้าท้องเช้า – เย็นทุกวัน”
แม้จะได้รับยาปริมาณมหาศาลก็ไม่ทำให้อาการของป้าแป๊วดีขึ้นเลย เธอยังคงมีอาการวิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวหมดแรงจนไม่เป็นอันทำอะไร กระทั่งมีคนแนะนำให้รักษาตัวตามแนวทางธรรมชาติ
“ถึงตอนนั้นเรายอมทุกอย่าง เพราะสุขภาพย่ำแย่มาก มีอาการขี้หลงขี้ลืมมีความทุกข์มาก ตอนนั้นมีแรงฮึดที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง หันมาทำกับข้าวกินเอง กินอาหารที่เป็นออร์แกนิกทุกอย่าง ทั้งข้าวกล้อง ผัก ปลาก็ต้องเป็นปลาตามธรรมชาติ ไม่กินปลาเลี้ยง งดของมัน ผัด ทอด ปิ้ง ย่าง ลดการใช้น้ำมันลง เน้นอาหารต้มและนึ่ง ถ้าผัดจะใช้น้ำแทนน้ำมัน ไม่ปรุงรสจัด และหันกลับมาดื่มน้ำเปล่า
“จากเดิมที่กินผักไม่ได้ พอได้มาลองกินผักออร์แกนิกสามารถกินผักได้มากขึ้น เพราะผักมีรสชาติดี อย่างผักคะน้าเมื่อก่อนซื้อตามตลาดมากิน จะไม่ชอบเลย เพราะรู้สึกว่ามีกลิ่นของสารเคมี ตอนนี้กลายเป็นชอบกินผักแทบทุกชนิดเน้นผักใบเขียว และยังทำน้ำผักปั่นกินเองด้วย”
ป้าแป๊วยังได้เรียนรู้ว่า สัดส่วนอาหารก็มีส่วนสำคัญในการคุมเบาหวานให้อยู่หมัดเช่นเดียวกัน
“แม้เราจะกินข้าวกล้อง แต่ก็ต้องกินในสัดส่วนที่เหมาะสม เปลี่ยนมากินข้าวมื้อละ 1 ทัพพีพอ เน้นกินผักให้มากหน่อย กินผัก น้ำพริก กับปลา แกงส้มผักรวมเป็นเมนูที่ทำกินเองเป็นประจำ อาหารออร์แกนิกกินแล้วทำให้มีกำลังและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น แม้ราคาสูงหน่อยแต่เราสัมผัสความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพได้จริง”
นอกจากการควบคุมเรื่องอาหารการกินแล้ว ป้าแป๊วในวัย 59 ปียังออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอทำให้ภายในเวลา 6 เดือนสามารถควบคุมน้ำตาลและน้ำหนักได้จนไม่ต้องใช้ยาเบาหวาน แถมยังมีรูปร่างที่สมส่วนสวยสดใสกว่าเดิม และสุขภาพโดยรวมดีขึ้นทุกด้าน
“ตอนนี้น้ำหนักลดเหลือ 55 กิโลกรัม ค่าน้ำตาลเหลือ 103 – 108 จึงไม่ต้องกินยา ไม่ต้องฉีดยาอีกแล้ว”
เรื่องราวของป้าแป๊วทำให้รู้ว่า เราสามารถกินอาหารธรรมชาติเป็นยาได้ หากรู้จักเลือกกินให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของตัวเอง
กำลังใจจากลูกๆ เยียวยาแม่ป่วยเบาหวาน
การดูแลสุขภาพต้องเริ่มที่ตัวเราเอง แต่บางครั้งการได้รับกำลังใจและคำแนะนำจากคนใกล้ชิด ก็ทำให้เราบรรลุเป้าหมายของการมีสุขภาพแข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น
ดังเช่นเรื่องราวของคุณแดง อายุ 59 ปี ซึ่งมีลูกๆ หลานๆ เป็นกำลังใจที่ดี คุณแดงเล่าว่า เมื่อ 4 – 5 ปีก่อน เธอประสบปัญหาน้ำหนักตัวเกิน คือ เกือบ 70 กิโลกรัม แต่แล้วจู่ๆ น้ำหนักก็ลดฮวบฮาบนับสิบกิโลกรัมภายในเวลาไม่กี่เดือน และมีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างต่อเนื่อง เมื่อไปตรวจร่างกายจึงพบว่าเธอป่วยด้วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
ผลเลือดของคุณแดงชี้ให้เห็นระดับน้ำตาลที่สูงเกิน 300 ซึ่งถือว่าสูงมากจนอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการช็อกหมดสติได้คุณแดงสันนิษฐานว่า อาการเหล่านี้น่าจะมาจากพฤติกรรมการกินของเธอที่สะสมมาตลอดชีวิต
“ปกติทำอาหารกินเองค่ะ แต่ส่วนใหญ่จะปรุงรสหนักไปทางเค็มและรสเผ็ด และครอบครัวเราชื่นชอบแกงกะทิเป็นพิเศษ เมนูแกงกะทิจึงเป็นเมนูประจำบ้าน เรียกว่าทำกินกันทุกมื้อ นอกจากนี้ตัวเราเองก็ยังชื่นชอบขนมไทยรสหวานมากอีกด้วย”
เนื่องจากขณะนั้นเธอต้องดูแลหลานๆ 2 คนและสามีซึ่งป่วยหนัก จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลสุขภาพตนเองมากนักได้แต่พึ่งการกินยาควบคุมระดับน้ำตาลไปเรื่อยๆ
จนหลังจากสามีเสียชีวิตได้ระยะหนึ่ง หลานๆ เองก็โตจนเข้าโรงเรียนกันหมด คุณแดงจึงเริ่มดูแลตัวเองมากขึ้น
“ฉันทราบดีว่าลูกๆ ห่วงสุขภาพของเรา พอดีคนรู้จักชักชวนให้มาเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งจัดขึ้นเดือนละครั้งโดยโรงพยาบาลประจำอำเภอ จากนั้นเพื่อนๆ พี่ๆ เขาชักชวนให้มาเดินออกกำลังกายที่สนามกีฬาของโรงเรียนมัธยมใกล้บ้านในช่วงเย็นๆ การออกกำลังกายหลายคนช่วยให้เพลิดเพลินดี ไม่ค่อยเหนื่อย อีกทั้งรู้สึกว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย”
หลังจากเดินออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องทุกเย็นมาได้ระยะหนึ่ง ระดับน้ำตาลในเลือดของเธอก็ลดลงเหลือประมาณ 200 และ 150 ตามลำดับสร้างความภูมิใจให้คุณแดงและทำให้ลูกๆ สบายใจขึ้น
ลูกๆ ของเธอจึงร่วมด้วยช่วยกันดูแลสุขภาพคุณแม่ด้วยการซื้อจักรยานให้เพื่อเป็นอีกตัวเลือกในการออกกำลังกาย
“หลังจากลูกๆ ซื้อจักรยานให้ ฉันจึงได้กิจกรรมออกกำลังกายเพิ่มนั่นคือการปั่นจักรยานบริเวณละแวกบ้านในช่วงเช้า และยังคงไปเดินออกกำลังกายในช่วงเย็นอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นวันที่ฝนตกค่ะ”
นอกจากนี้ลูกๆ ของเธอยังส่งเสริมให้คุณแดงปรับพฤติกรรมการกินอีกด้วย
“ถึงจะลดเมนูแกงกะทิลงแล้ว แต่ฉันก็ยังชอบกินเนื้อติดมันมากค่ะจะทำเมนูไหนก็มักใส่เนื้อติดมันลงไปด้วยเสมอ แต่ลูกๆ เขาขอให้เลิกกินเปลี่ยนมากินปลาและผักผลไม้แทน เราทราบดีว่าลูกๆ ห่วง จึงพยายามปรับอาหารการกินตามคำแนะนำของลูก ก็รู้สึกว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้นอีกทั้งระดับไขมันในเลือดก็ลดลงด้วยค่ะ”
ทุกวันนี้สุขภาพโดยรวมของคุณแดงค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ตัวเธอเองและลูกๆ มีความสุขมาก โดยเธอบอกว่า จะดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่ออยู่เป็นกำลังใจให้กับลูกๆ หลานๆ เช่นกัน
ไม่มีคำว่า “สาย” ออกกำลังกายสลายเบาหวาน
ก่อนหน้านี้ คุณดา อายุ 54 ปีเป็นช่างเย็บผ้าที่ทำงานหนักและไม่เคยออกกำลังกาย เนื่องจากคิดว่า การทำงานหนักนั้นเท่ากับได้ออกกำลังกายแล้ว กว่าจะทราบว่าความคิดนี้ไม่ถูกต้องก็เมื่อตัวเองเริ่มอ้วนและป่วยเป็นโรคกระดูกเสื่อม
หลังจากรักษาอาการจนดีขึ้นในระดับหนึ่ง คุณดาที่ขณะนั้นอายุ 46 ปีจึงเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการเดินทุกเช้า ผ่านไป 1 ปี ผลตรวจร่างกายประจำปีก็แสดงผลว่า เธอป่วยเป็นเบาหวานในระยะเริ่มต้น
“ฉันคิดว่าสาเหตุคงมาจากพฤติกรรมการกินที่สั่งสมมานานเพราะฉันโปรดปรานผลไม้รสหวานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทุเรียน เข้าฤดูร้อนทีไรเป็นต้องซื้อหามากินแทบทุกวัน
“เมื่อทราบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ยอมรับว่าช่วงแรกตกใจนะคะ แอบกังวลนิดหน่อยว่า เราเองก็หันมาออกกำลังกายแล้ว ทำไมจึงยังป่วยด้วยโรคนี้อีก แต่ก็คิดได้ว่าเรากินอาหารอย่างไม่ระมัดระวังมาตลอดชีวิต การออกกำลังกายเพียงปีเดียวคงยังไม่เพียงพอ”
จากนั้นคุณดา จึงมุ่งมั่นออกกำลังกายต่อ โดยเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายให้มากขึ้น
“ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ฉันจะตื่นตั้งแต่ 4.30 น. หลังจากทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จ ก็เดินจากบ้านไปยังสวนสาธารณะที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านนักจากนั้นก็เดินรอบสวนสาธารณะประมาณ 2 – 3 รอบ ต่อด้วยการฝึกโยคะกับชมรมโยคะวันละ 30 นาที ตามด้วยการรำกระบองแบบชีวจิตกับชมรมรำกระบองอีก 1 รอบ แล้วจึงกลับบ้าน
“ในขณะที่วันอังคารและพฤหัสบดีไม่มีกิจกรรมของชมรม แต่ฉันยังคงตื่นเวลาเดิมและออกไปเดินออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ โดยจะเพิ่มรอบการเดินให้มากขึ้นเป็น 4 – 5 รอบ แล้วจึงกลับบ้าน ส่วนวันเสาร์ – อาทิตย์ถือเป็นวันพักผ่อน ทำกิจกรรมกับครอบครัว เป็นส่วนของการดูแลจิตใจไป”
ผ่านไป 3 เดือน เมื่อไปตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัด พบว่าระดับน้ำตาลที่เคยสูงเกิน 200 ลดลงมาเหลือเพียง 100 กว่าๆ และอีก 3 เดือนถัดมาก็ลดลงเหลือเพียง 96 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปกติ และยังอยู่ในระดับคงที่ ไม่เกินมาตรฐานจนถึงปัจจุบัน
“ถึงระดับน้ำตาลในเลือดจะเป็นปกติ แต่ฉันก็ยังคงออกกำลังกายต่อเนื่องเพราะพบว่าการออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นมาก ทั้งน้ำหนักที่ลดลงจนคนรอบข้างทักว่าหุ่นดีขึ้น การออกกำลังกายยังทำให้จิตใจแจ่มใสแช่มชื่น อีกทั้งทำให้บุคลิกภาพดีอีกด้วย”
จากวันที่เริ่มป่วยจนถึงวันนี้ก็ 8 ปีแล้ว แต่คุณดายังคงมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง จึงขอยกให้เธอเป็นตัวอย่างของคนที่ใจไม่ท้อ และมีความเชื่อมั่นศรัทธาว่า การออกกำลังกายจะช่วยให้เธอหายจากโรคร้ายที่คุกคามชีวิตได้
วินัยการกินต้านเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
เรื่องราวการป่วยเป็นเบาหวานของ คุณเอ้ อายุ 36 ปีต้องถือว่าเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ในที่สุดเธอก็สามารถเยียวยาเบาหวานได้ด้วยตัวเองด้วยวินัยในการควบคุมอาหารอย่างเข้มข้น
“เราไม่เคยมีพันธุกรรมเบาหวานมาก่อน พ่อแม่ก็ไม่ได้เป็น แต่กลับมาตรวจพบเบาหวานตอนท้อง ตอนคุณหมอนัดเจาะเลือดในสัปดาห์ที่ 28 คือย่างเข้าเดือนที่ 7 ปกติถ้าเป็นว่าที่คุณแม่ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางโรงพยาบาลจะให้ตรวจหาเบาหวานตั้งแต่เดือนที่ 5 แต่ของเราเป็นการตรวจตามรอบ
ปกติของคนท้องที่ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งพบค่าน้ำตาลสูงค่อนข้างมาก คือ อยู่ที่ 174 คุณหมอนัดให้ไปตรวจคัดกรองรอบที่ 2 เพื่อจะยืนยันผลว่าเราเป็นเบาหวานหรือไม่ ก็ตรวจพบว่าค่าน้ำตาลยังสูงอยู่ที่ 140 และคุณหมอก็ยืนยันว่าเราป่วยเป็นเบาหวานแล้ว”
เมื่อรู้เช่นนั้นคุณเอ้มีความตั้งใจที่จะเอาชนะเบาหวานให้ได้ เพราะกังวลว่าอาจส่งผลต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ และส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองในระยะยาว
“ตอนนั้นเรากังวลว่าจะส่งผลถึงลูกไหม ซึ่งคุณหมอก็บอกว่าจะทำให้ลูกมีน้ำหนักมาก เราเริ่มมาทบทวนตัวเองถึงสาเหตุการป่วยเป็นเบาหวานก่อนเลยก็พบว่าเราป่วยเพราะพฤติกรรมการกินแท้ๆ เพราะตอนท้องชอบกินของหวานและผลไม้หวานๆ เช่น ทุเรียน น้ำหวาน ขนมหวาน และกินข้าวเยอะมาก ครั้งหนึ่ง 3 – 4 ทัพพี จะเลือกกินแต่ของอร่อยๆ ไม่อร่อยไม่กิน คือติดรสชาติมาก
“พอเรารู้สาเหตุ ประกอบกับฟังคำแนะนำของคุณหมอ ก็ลงมือปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกิน และต้องมีวินัยกับตัวเองเรื่องการกินมากขึ้น คือจะงดอาหารที่เป็นแป้งขาวทั้งหมด เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด หันมากินข้าวกล้องมื้อละ 1 ทัพพี เพื่อให้การดูดซึมน้ำตาลเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป งดขนมหวานและผลไม้รสหวานจัดด้วย แม้จะเป็นผลไม้ที่รสไม่หวานจัดอย่างฝรั่ง ชมพู่ แอ๊ปเปิ้ล ส้ม ก็ยังต้องจำกัดปริมาณการกิน จะไม่กินมากจนเกินไป”
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า คนท้องหิวบ่อยซึ่งคุณเอ้ก็มีเคล็ดลับในการปรับเปลี่ยนอาหารที่ทำให้ตัวเองไม่ต้องทรมานกับอาการหิวบ่อย และยังช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติและสามารถควบคุมเบาหวานอย่างได้ผลด้วย
“คนท้องจะหิวตลอด เมื่อเรารู้สึกหิว ก็จะเน้นกินโปรตีน เช่น ปลา ไข่ ถั่วต่างๆ อาหารกลุ่มนี้ช่วยได้
เพราะไม่ทำให้น้ำตาลขึ้น และจะเน้นผักต่าง ๆ ด้วย
“นอกจากนี้เราต้องช่างสังเกตและดีไซน์อาหารแต่ละมื้อของเราเอง โดยดูจากค่าน้ำตาลในการเจาะเลือดหลังมื้ออาหารแต่ละครั้ง ซึ่งในแต่ละวันเราต้องเจาะเลือดดูค่าน้ำตาลวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น คือครั้งที่หนึ่งเจาะก่อนกินอาหาร ครั้งต่อไปเจาะหลังอาหาร 1 ชั่วโมง อีกครั้งเจาะหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เราก็จะรู้ว่าอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละมื้อเป็นเมนูที่ลงตัวแล้วหรือยัง อย่างมื้อไหนค่าน้ำตาลขึ้น เราก็จะรู้แล้วว่าเรากินอะไรมากไปที่ทำให้น้ำตาลขึ้น มื้อต่อไปก็จะปรับ หรือมื้อไหนกินแล้วค่าน้ำตาลปกติ ก็จะจำไว้ว่าเมนูเหล่านี้กินด้วยกันแล้วค่าน้ำตาลเราดี เราก็จะจดไว้ จะทำให้เราได้รู้ถึงชนิดอาหารและสัดส่วนที่เหมาะสมที่เรากินได้”
แม้หลังจากคลอดแล้ว คุณเอ้จะหายจากภาวะเบาหวานแต่คุณหมออธิบายว่า เธอยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานเมื่อสูงวัยได้ คุณเอ้จึงยังคงมีวินัยการกินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกวันนี้เธอมีสุขภาพแข็งแรงดีเยี่ยม
กินข้าวกล้อง + ปั่นจักรยาน ต้านแผลเบาหวาน
การปั่นจักรยานเป็นเทรนด์การดูแลสุขภาพที่มาแรงมากในช่วงหลายปีมานี้ และสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเคสนี้ก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วยการปั่นจักรยานเช่นเดียวกัน
คุณลุงชิน อายุ 72 ปี เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานที่ทั้งกระฉับกระเฉงและอารมณ์ดี ไม่มีวี่แววของการเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เราเห็นแต่อย่างใด
“เป็นเบาหวานมานานหลายปีแล้ว ก่อนนี้อาการก็ไม่ค่อยจะดี คือ น้ำตาลสูง มักอ่อนเพลีย ต้องคอยกินยาคุมไว้ตลอดแต่ก็ไม่ดีขึ้นเท่าไร ยังมีอาการอยู่ตลอด คือเราไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ ต่อมาอาการรุนแรงขึ้น คือ เป็นผื่นเปน็ แผลตามเท้า แล้วก็หายยากมากๆ เราก็กลัว เพราะเห็นคนเป็นเบาหวานบางคนต้องตัดขา
“ลูกสาวเห็นอาการไม่ค่อยดีแม้จะกินยาอยู่ตลอด ก็เลยแนะนำแกมบังคับให้กินข้าวกล้อง ก็ยังไม่ค่อยชอบ เพราะกลัวว่าข้าวจะแข็ง เขาก็เลยแนะนำให้กินข้าวกล้องหอมแดงอินทรีย์เพราะนุ่มขึ้นมาหน่อย ก็เลยลองกินดู ก็กินได้และชอบมากกินข้าวน้อยลง แต่อิ่มนานขึ้น ไม่หิวบ่อย แล้วก็พยายามกินผักให้มากขึ้นด้วย พอไปหาหมอ ผลการตรวจปรากฏว่าเราคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น ผื่นคันและแผลต่างๆ ก็หายง่าย และไม่เป็นซ้ำอีกเลย”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองครั้งนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คุณลุงชิน มีกำลังใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเยียวยาตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานยิ่งขึ้นไปอีก
“ผมคิดถึงการออกกำลังกาย เพราะอยากให้น้ำหนักลงอีกหน่อย พอดีที่บ้านมีจักรยานอยู่ ก็เอามาปัดฝุ่น ซ่อมให้ดี แล้วปั่นอยู่ในละแวกหมู่บ้านตอนเย็นๆ วันแรกๆ ก็ไปได้ไม่ไกลนัก ก็กลับบ้าน วันต่อมาก็ปั่นใหม่ไม่หักโหม สัก 3 – 4 วันกำลังก็อยู่ตัว ผ่านไปประมาณ 1 เดือนก็รู้สึกว่าน้ำหนักลด พุงยุบลง กระฉับกระเฉงขึ้น แล้วก็ติดการปั่นจักรยานไปเลยตอนนี้ต้องออกไปปั่นจักรยานกับหลานสาวทุกวัน”
นอกจากนี้คุณลุงชิน ยังแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ของการปั่นจักรยานว่า ทำให้คุณลุงชินได้เพื่อนบ้านเพิ่ม รู้สึกรื่นรมย์และมีความสุขในการดูแลสุขภาพด้วยวิธีนี้ เมื่อความสุขเพิ่มขึ้นแล้ว ความเครียดและความวิตกกังวลลดลง การทำงานของฮอร์โมนก็ดีขึ้นด้วย ดังที่มีการศึกษาพบว่า คนที่ไม่เครียดก็จะทำให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้นตามไปด้วย
หวังเหลือเกินว่า คุณเองจะเป็นคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 5 ประสบการณ์ดังกล่าว แล้วลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อให้หายจากโรคเบาหวานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมาเช่นกัน
ข้อมูลจาก คอลัมน์ประสบการณ์สุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 462
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate