มาถนอม ไต กันเถอะ
ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เร่งรีบก่อให้เกิดโรคยอดฮิตอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้แทบจะต้องกินยาแทนข้าวเพื่อรักษาโรค และนั่นทำให้เสี่ยงภาวะไตวายได้ง่ายๆ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ อธิบายหน้าที่ของไตว่า
“ไตมีหน้าที่ขับของเสียในร่างกายซึ่งเกิดจากการเผาผลาญอาหารที่กินเข้าไป รวมทั้งยาต่างๆ โดยสารพิษที่ปนเปื้อนจะถูกทำลายและขับออกทางตับและทางไตเป็นส่วนใหญ่
“ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับอาหารหรือยาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำลายไต เช่น ยาแก้ปวดอย่างแรงที่ชื่อว่า เอ็นเสด (NSAIDs) จะส่งผลให้ไตเสื่อมลงเรื่อยๆ และอาจเร็วกว่าปกติจนทำให้ของเสียไม่ถูกขับออก”
Easy Ways ถนอมไต แม้กินยามาก
เพราะหลายคนมีโรคประจำตัว และต้องกินยาในปริมาณมาก คุณหมอธัญญารัตน์แนะนำว่ายังมีวิธีที่จะช่วยถนอมไตของคุณได้
ใช้ยาเท่าที่จำเป็น
คุณหมอธัญญารัตน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยทุกคนควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น เพราะแพทย์จะให้ยาตามหลักการรักษาโรค ซึ่งกำหนดระยะเวลามาแล้วว่าผู้ป่วยต้องกินยานานเท่าไรจึงเหมาะสมกับอายุ เพศ และการทำงานของไต หากแอบซื้อยากินเองหรือเพิ่มปริมาณยาด้วยตนเอง ผู้ป่วยอาจได้รับยาเกินขนาดโดยไม่จำเป็น ไตจึงต้องทำงานหนักขึ้น และยังมีโอกาสเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เห็นว่าอาการป่วยของตนดีขึ้นแล้วและหยุดยาเองถือเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะร่างกายอาจเกิดการดื้อยา โรคเก่าอาจกลับมาเป็นซ้ำ จึงควรหยุดยาภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
ดื่มน้ำมากๆ
เพราะไตมีหน้าที่ขจัดสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย คุณหมอธัญญารัตน์ กล่าวว่า เราควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละ 8 – 10 แก้ว (หากไม่มีข้อห้ามจากแพทย์ในการจำกัดปริมาณน้ำ) เพื่อช่วยให้ร่างกายขับถ่ายของเสียได้ดีขึ้น การดื่มน้ำน้อยส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญ ทำให้มีของเสียคั่งในร่างกาย ไต จึงต้องทำงานหนัก
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ต้องรับการตรวจด้วยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องฉีดสารทึบรังสีที่ออกกฤทธิ์ทำลายไต คุณหมอธัญญารัตน์ แนะนำว่า ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ ทั้งก่อนและหลังการตรวจ เพราะไตจะต้องทำหน้าที่ทำลายสารทึบรังสีออกจากร่างกายดังนั้นน้ำจะช่วยให้ไตทำงานดีขึ้น
รูปภาพจาก pixels
ออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามประสิทธิภาพของร่างกายและหัวใจเพื่อให้โลหิตไหลเวียนทั่วร่างกาย จะส่งผลให้ไตทำงานได้ดียิ่งขึ้น หากไตขาดเลือดก็จะทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มที่ ของเสียหรือยาที่เรากินเข้าไปก็จะยิ่งตกค้าง
รูปภาพจาก pixels
นอนหลับให้เพียงพอ
คุณหมอธัญญารัตน์ อธิบายว่า ใครที่กินยาเป็นประจำต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่าไม่อ่อนเพลีย และมีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ
ซึ่งเวลาของการนอนก็มีส่วนช่วยให้ไตที่ต้องทำงานหนักได้ฟักฟื้น โดยการนอนในตอนกลางคืนของวัยสูงอายุอาจไม่ต้องมากเทียบเท่ากับวัยทำงาน ผู้สูงวัยควรแบ่งเวลาตอนกลางวันนอนราว 1 – 2 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้การนอนในเวลากลางคืนจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับไตของคนทุกเพศทุกวัย
รูปภาพจาก pixels
กินบำรุงไต
สำหรับผู้ที่กินยาในปริมาณมาก คุณหมอธัญญารัตน์แนะนำให้กินอาหารรสจืด รวมทั้งงดและลดอาหารรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ซึ่งการกินผัก ผลไม้ และเนื้อปลา จะช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนักเพื่อขจัดของเสียในร่างกาย
น้ำเอนไซม์ช่วยตับไต
สำหรับคนที่กินยามาก เรามีวิธีง่ายๆ ซึ่งคิดค้นโดยกูรูต้นตำรับ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เพียงดื่มน้ำคั้นจากแครอต (ครึ่งแก้ว) จะช่วยล้างไขมันและช่วยในการทำงานของตับขณะที่น้ำคั้นจากแคนตาลูปและแตงโมจะช่วยในการทำงานของไต
ยาใดควรระวัง
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ป่วยโรคไตหรือเป็นเพียงผู้ป่วยที่ต้องกินยาในปริมาณมาก สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือบรรดายาที่มีฤทธิ์ทำลายไต ซึ่งคุณหมอธัญญารัตน์ สรุปไว้ดังนี้
• ยาแก้ปวดอย่างแรง โดยเฉพาะประเภทเอ็นเสด (NSAIDs) เพราะยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ทำลายไต ส่งผลให้ไตเสื่อมจนเป็นไตวายเฉียบพลันได้
• ยาต้ม ยาหม้อ คุณหมอธัญญารัตน์ อธิบายว่าในยาต้มหรือยาหม้ออาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักบางชนิด เช่น ตะกั่ว ที่ทำลายไตได้ หากใช้ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน โลหะหนักจะสะสมในเนื้อไตส่งผลเช่นเดียวกับยาแก้ปวดอย่างแรง
• ยารักษาการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งตัวยาบางชนิดจำเป็นต้องลดขนาดลง ตามความเหมาะสมของหน้าที่ไต การมีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาเกี่ยวกับไตอยู่แล้วควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อความถูกต้องในการคำนวณขนาดยาของแพทย์
รู้หลักในการใช้ยาแล้วใช่ไหมคะ เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ แม้จะต้องกินยามาก แต่รับรองว่าไตของเราไม่วายอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate
จาก คอลัมน์อยู่เป็นลืมป่วย นิตยสารชีวจิต ฉบับ 408 (1 ตุลาคม 2558)