วันนี้จับเข่าคุยเรื่อง โรคไต กับกูรูแพทย์แผนจีน
แพทย์หญิงศรันยา กตัญญูวงศ์ หรือคุณหมอส้ม แพทย์ผู้นำแผนปัจจุบันและแผนจีนมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เจ้าของคอลัมน์ “เปิดบ้านชีวจิตโฮม” คุณหมอส้มได้อธิบายถึงพฤติกรรมต้องห้าม ทำบ่อยๆ เสี่ยงเป็นโรคไตเอาไว้ ซึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงมาฝากคุณผู้อ่านดังต่อไปนี้ค่ะ
พฤติกรรมทำร้ายไตต่อไปนี้ คือ พฤติกรรมที่ยกให้เป็นสุดยอดของพฤติกรรมทำร้ายไตให้ทรุดโทรมลง ใครเข้าข่ายพฤติกรรมต่อไปนี้ รีบปฏิวัติตัวเองด่วน
1. ทำงานหนัก ต่อเนื่องยาวนาน
การทำกิจกรรมมากๆ ทำงานต่อเนื่องนานยาว ทำงานหนักไม่ค่อยได้พักผ่อน หรือใช้ชีวิตเปลือง เช่น ไปเที่ยวหามรุ่งหามค่ำ ไตจะทำงานหนัก เมื่อเวลาผ่านไป พลังงานของไตหยาง จะเริ่มอ่อนลงยิ่งไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้พลังงานของไตหยินเสื่อมได้เร็ว เมื่อเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องนานๆ ไตทั้งระบบจะเสื่อมได้ง่าย
2. ขาดการพักผ่อน
การพักผ่อนถือเป็นการบำรุงพลังหยินทั้งร่างกาย ไตก็เช่นเดียวกันเมื่อได้พักผ่อน ไตทั้งระบบจะเริ่มซ่อมแซมตัวเอง ดังนั้นถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ การซ่อมแซมและการเก็บพลังงานกลับคืนเข้าเก็บสะสมที่ไตจะทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
3. เครียด
เนื่องจากไตจะได้รับพลังงานจากอาหารและอากาศ ดังนั้นเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งทำให้เกิดการกลั้นหายใจ หยุดหายใจ หายใจช้าหายใจตื้น การหายใจที่ผิดปกติเหล่านี้ทำให้ไตไม่ได้รับอากาศลงไปเพื่อเสริมพลังอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้เมื่อเกิดความเครียด ตับยังผลิตความร้อนออกมาเผาของเหลวในร่างกาย ภาวะเช่นนี้ทำให้ร่างกายเกิดความร้อน เป็นผลพวงทำให้พลังงานในไตขาดความสมดุลไปด้วย หากเครียดจัดและเครียดอยู่บ่อยๆ อาจทำให้ไตเสื่อมได้
รูปภาพจาก pixels
นอกจากนี้เมื่อเกิดความเครียด ตับยังผลิตความร้อนออกมาเผาของเหลวในร่างกาย ภาวะเช่นนี้ทำให้ร่างกายเกิดความร้อน เป็นผลพวงทำให้พลังงานในไตขาดความสมดุลไปด้วย หากเครียดจัดและเครียดอยู่บ่อยๆ อาจทำให้ไตเสื่อมได้
4. ดื่มน้ำน้อยไปหรือมากเกินไป
เนื่องจากไตในส่วนของไตหยินมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก การดื่มน้ำน้อยทำให้พลังงานของไตหยินซึ่งรับผิดชอบเรื่องความชุ่มชื่นของร่างกายลดลง ส่งผลให้ตัวแห้ง ผิวแห้ง ขาดน้ำหล่อเลี้ยงผิว
ในทางกลับกัน ถ้าดื่มน้ำมากเกินไป น้ำซึ่งเป็นของเย็นจะไปลดทอนพลังงานของไตหยางซึ่งทำหน้าที่ให้ความอบอุ่น และทำให้ไตหยางต้องทำงานหนักในการผลิตปัสสาวะ ไม่สามารถทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัสสาวะมีปริมาณมากและใส ซึ่งใน
ระยะยาวจะทำให้ไตเสื่อมได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำให้พอดีการดื่มน้ำน้อยกว่าวันละ 1 ลิตร ถือว่าดื่มน้ำน้อยเกินไป แต่ถ้าดื่มน้ำวันละ 4 – 5 ลิตรก็ถือว่าดื่มน้ำมากเกินไป แนะนำให้ดื่มวันละ 1.5 ลิตรถึง 2 ลิตร
รูปภาพจาก pixels
5. ดื่มน้ำอื่นๆแทนน้ำเปล่า
เครื่องดื่มบางชนิดทำให้เกิดการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย (dehydrate) เช่น ชา กาแฟ โคลา เนื่องจากมีกาเฟอีน ทำให้เกิดการขับปัสสาวะและทำให้ตัวแห้ง พฤติกรรมนี้ทำให้ไตหยินเสื่อมได้
รูปภาพจาก pixels
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มชาธาตุร้อน ซึ่งได้แก่ชาที่เก็บมาแล้วตากแห้ง แล้วนำเข้าไปหมักต่อ เพราะวิธีการดังกล่าวจะทำให้ชาเปลี่ยนสภาพจากอาหารธาตุเย็นเป็นอาหารธาตุร้อน ชาธาตุร้อน เช่น ชาดำของรัสเซีย ชาอู่หลงที่ชงเข้มจัด
ชาที่ดื่มได้โดยไม่มีผลกระทบต่อไตคือ ชาเขียว เพราะเป็นชาที่เก็บมาแล้วตากแห้งเท่านั้น ไม่มีการหมัก อย่างไรก็ตาม ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ
รูปภาพจาก pixels
6. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวเสริมความร้อนในร่างกายทำให้การไหลเวียนเร็วขึ้น ทว่าทำให้ไตหยินอ่อนพลัง จึงทำให้ผิวแห้ง ในรายของผู้หญิงอาจทำให้เลือดออกมากเวลามีประจำเดือนและทำให้ซีดง่าย
รูปภาพจาก pixels
7. การกินยาบางชนิดนานๆ
การกินยาที่มีฤทธิ์เย็นนานๆ ไตหยางจะอ่อนพลัง เช่น ยาลดความดันบางกลุ่ม ซึ่งมักมีคำเตือนเกี่ยวกับการทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับสุขภาพของไตที่เสื่อมลงนั่นเอง
กล่าวคือ ในทางแพทย์แผนจีนอธิบายว่า ความดันโลหิตสูงเกิดจากพลังหยางในร่างกายมีมาก ยาที่หมอให้ส่วนใหญ่จึงเป็นยาฤทธิ์เย็น ซึ่งมีสรรพคุณลดพลังหยาง เมื่อพลังหยางลดลงพลังเรื่องเพศจะลดลงด้วย
นอกจากนี้ การกินยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) ก็กระทบต่อไตเช่นกัน โดยมีฤทธิ์เสริมพลังหยางเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี เพื่อช่วยระงับอาการปวด ยาชนิดนี้ทำให้พลังงานไตหยินลดลงได้
8. การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ
การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆกระทบต่อสารพลังชีวิตที่กักเก็บอยู่ในไต เมื่อสารพลังชีวิตลดลงจะกระทบต่อพลังงานของทั้งไตหยินและไตหยาง ทำให้แก่เร็ว ที่เห็นชัดคือผิวหน้าเหี่ยวย่น
9. พฤติกรรมการกินผิดๆ
การกินอาหารมากเกินไปกระทบระบบย่อยอาหาร คือ ม้าม ถ้ากินมากเกินไป ม้ามย่อยไม่ไหว จะต้องดึงพลังงานจากไตมามากกว่าปกติ ในทางกลับกัน หากกินน้อยเกินไปจะไม่มีสารอาหารไปบำรุงพลังงานไต แต่ละมื้อจึงควรกินในปริมาณที่พอเหมาะพอดี
การกินผิดเวลา กินผิดปกติ กระทบม้าม กระทบระบบย่อยอาหารโดยตรง แต่ถ้ากินผิดเวลาบ่อยๆต่อเนื่องไปนานๆ สัก 2-3 เดือน ไตจะเริ่มได้รับผลกระทบ เพื่อสุขภาพไตที่ดีจึงควรกินอาหารให้ตรงเวลา
รูปภาพจาก pixels
10. กินเค็ม + เผ็ด
การกินอาหารเค็มจัดไปทำให้ร่างกายต้องใช้น้ำในการทำให้เกลือเป็นสารละลาย (dilute) ส่งผลให้พลังงานของไตหยินลดลง
นอกจากนี้ อาหารรสเผ็ดจัดๆก็ทำให้พลังงานของไตหยินลดลงได้เช่นกัน เนื่องจากอาหารรสเผ็ดจัดเป็นอาหารที่สร้างความร้อน ให้พลังหยาง เผาผลาญพลังหยิน ดังนั้นไม่ควรกินอาหารที่รสจัดเกินไป
รู้อย่างนี้ก็พยายามอย่าทำร้ายไตของเราทางอ้อมด้วยพฤติกรรมผิดๆ นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate
แหล่งที่มา ชีวจิต ฉบับที่ 8 March 2019