ฟอสฟอรัส เรื่องใหญ่ที่ผู้ป่วยโรคไตต้องรู้

ฟอสฟอรัส เรื่องใหญ่ที่ผู้ป่วยโรคไตต้องรู้

ฟอสเฟตสูง หมายความว่ายังไง ?

“ฟอสฟอรัส หรือ ฟอสเฟต” เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ช่วยสร้างกระดูก และช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้น
ปริมาณฟอสฟอรัสจึงมีผลกับกระดูกโดยตรง และที่สำคัญมักเจอได้ในอาหารเกือบทุกอย่าง (ที่อร่อย ๆ) โดยเฉพาะพวกนม ธัญพืชทุกชนิด ช็อคโกแลต ขนมขบเคี้ยว ไข่แดง เป็นต้น

 

รูปภาพจาก pixels

 

คำว่า ฟอสเฟตสูงหรือต่ำ เราสามารถดูได้จากใบผลเลือด (จะอยู่ในหมวดเกลือแร่ ชื่อว่า Phosphorus หรือตัวย่อ P) ซึ่งถ้าใครที่ค่า สูงเกิน 5.5 mg./dL. ขึ้นไป ก็จะถือว่าสูง จำเป็นต้องควบคุมอาหารประเภทฟอสฟอรัสให้เข้มขึ้น เพื่อให้ค่ากลับมาอยู่ในเกณฑ์

 

แต่ถ้าค่านี้ต่ำกว่า 3.5 mg./dL. ก็ไม่ดีเช่นกัน ดังนั้นเราควรท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยนะคะว่า อะไรที่มากไป หรือน้อยไป ก็ไม่ดีทั้งนั้นล่ะค่ะ

 

 

ทำไมผู้ป่วยโรคไต ต้องคุมฟอสฟอรัส ?

นั่นก็เพราะ สำหรับคนปกติ ไตจะเป็นตัวปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกายให้เหมาะสม สารอะไรที่มากไป ไตจะขับออกมาก เพื่อให้ร่างกายมีค่านั้นพอเหมาะ หรือสารอาหารอะไรที่น้อยไป ก็จะแจ้งเตือนด้วยอาการต่าง ๆ เพื่อให้เรารู้ตัวและเสริมการกินอาหารนั้นเพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่ประเด็นใหญ่ ก็คือ พอเจ้าตัวปรับสมดุลอย่างไตเสื่อมลง การปรับสมดุลแบบนี้จึงทำได้ยากขึ้น แถมประสิทธิภาพการขับของเสียให้ออกไปจากร่างกายก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร เราจึงต้องหันมาควบคุมการกินอาหารที่เข้าไปแทนนั่นเอง หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือการควบคุมอาหาร = ช่วยให้ไตทำงานง่ายขึ้น จะได้เสื่อมช้าลงค่ะ

 

 

คุมฟอสฟอรัสในแต่ละวันเท่าไหร่ ?

อายขอสรุปง่าย ๆ จากข้อมูลงานวิจัย วารสาร และหนังสือ ฟอสฟอรัสมี 3 วิธี คือ

1.ฟอกเลือด

2.ทานยาจับฟอสเฟต

3.คุมอาหาร

ซึ่งบางคนอาจต้องใช้ทั้ง 3 วิธีเลย บางคน 2 หรือบางคน 1 ก็แล้วแต่เคสนะคะ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่กำลังฟอกไต มักจะทำทั้ง 3 แบบเลยค่ะ

 

**ใน 1 วันร่างกายต้องการฟอสฟอรัสประมาณ 800-1000 mg. (เฉลี่ยต่ออาหาร 1 มื้อ ประมาณ 300 มิลลิกรัม)
อย่าเพิ่ง งง กันนะคะ ว่าแล้วจะรู้ได้ไงว่าที่เรากินอยู่ มีฟอสฟอรัสไหม เพราะอายมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น เราไปดูกันต่อเลยดีกว่าค่ะ

 



จะรู้ได้ไงว่าอาหารอะไรมีฟอสฟอรัส และมีเท่าไหร่ ?

ปกติแล้วฟอสฟอรัสจะอยู่ในอาหาร 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

 

1. กลุ่มอาหารธรรมชาติ : ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มที่มีโปรตีนสูง ฟอสฟอรัสก็มักสูงตามไปด้วย ยกเว้นไข่ขาวที่โปรตีนสูงแต่ฟอสฟอรัสต่ำ พวกนี้ถ้าเรากินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้ 40-60% หรือประมาณครึ่งนึงจากที่กินเข้าไปเท่านั้น

 

2. กลุ่มอาหารปรุงแต่งหรือใช้สารสังเคราะห์ : เช่น สารกันบูด สารปรุงรสต่าง ๆ สารปรับแต่งคุณสมบัติของอาหาร (เช่น สารให้ความข้นหนืด สารให้ความคงตัว สารแต่งกลิ่นแต่งรส เป็นต้น) แต่พวกนี้ถ้าเรากินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้ 90% ขึ้นไปหรือเกือบหมดเลยทีเดียว

กรณีที่ในฉลากโภชนาการไม่มีข้อมูลฟอสฟอรัสบอก เราสามารถดูได้จากส่วนผสมแทนได้ค่ะ เช่น สารปรุงแต่งอาหารที่มีคำว่า

 

“ฟอสเฟต (phosphate)” หรือ “ฟอส (phos)” ในชื่อ ส่วนถ้าพลิกไปดูแล้วไม่มีบอกไว้ ก็แนะนำดูที่ประเภทของอาหารนั้นว่าน่าจะมีส่วนผสมที่ฟอสฟอรัสสูงไหม แล้วทานในปริมาณที่เหมาะสมหรือถ้าไม่มีข้อมูลเลย ไม่แน่ใจ ก็แนะนำทานน้อยเข้าไว้จะปลอดภัยที่สุดค่ะ

 

*เมื่อฟอสฟอรัสสูง ทำไงดี >> ควรเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง โดยอาการที่บ่งบอกว่าสูง ได้แก่

-ผิวจะคล้ำขึ้น

-รู้สึกคันยิบ ๆ ตามตัว จนรู้สึกรำคาญ

-ถ้าเป็นนาน ๆ เข้า กระดูกก็จะเปราะและหักได้ง่าย

-ร้ายแรงที่สุดคือ ทำให้เส้นเลือดในร่างกาย รวมถึงเส้นฟอกไตอุดตันได้

คำเตือน หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินใช่ไหมคะ ว่าถ้าฟอสฟอรัสสูงนาน ๆ อาจทำให้เราต้องเข้าห้องผ่าตัดได้ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่ฟอสฟอรัสสูงนาน มีแต่เพิ่มขึ้นๆ ค่าพาราไทรอยด์ก็จะสูงตามไปด้วย แล้วพอพาราไทรอยด์สูงระดับนึง แบบว่าคุณหมอรักษายังไงก็ไม่ยอมลง ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าออก
ซึ่งเมื่อผ่าออกไปแล้วก็ใช่ว่าจะหายนะคะ เพราะว่าถ้าเรายังควบคุมไม่ได้อีก ก็มีโอกาสจะถูกผ่าออกได้อีก (ตัวเรามี 4 ต่อมค่ะ) แถมที่สำคัญ ตอนที่ผ่าตัดออกไปแล้ว เมื่อไหร่ที่ค่าฟอสฟอรัสต่ำเกินไป เราก็ต้องเอาต่อมที่เคยผ่าออก กลับเข้ามาฝังอยู่ในตัวเราอีกครั้ง(ทางรพ.จะทำการเก็บรักษา โดยการแช่ต่อมของแต่ละคนไว้นะคะ ไม่ได้เอาไปทิ้งที่ไหน)
กลายเป็นว่า บางคนต้องผ่าออก และฝังเข้าไปใหม่ วนกันไป 4-5 รอบเลยล่ะค่ะ เพราะงั้นอายคิดว่าถ้าเราจะต้องเจ็บตัวเยอะขนาดนี้
สู้พยายามควบคุมด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านประสบการณ์ผ่าตัดถี่แบบนี้ชีวิตจะแฮปปี้กว่านะคะ ^^



*เมื่อฟอสฟอรัสต่ำ ทำไงดี >> กินอาหารที่มีฟอสฟอรัสเข้าไปเพิ่มได้ เพื่อให้ค่าออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (กินระยะสั้นๆ ดูตามการเปลี่ยนแปลงของผลเลือด) เพราะฟอสฟอรัส ก็ถือว่ายังมีประโยชน์กับร่างกายอยู่ คือ ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ได้ค่ะ

 

 

เทคนิคกินของอร่อยยังไงให้ฟอสเฟตไม่สูง ?

แนะนำเปลี่ยนอาหาร เพื่อลดฟอสฟอรัสลง ดูตัวอย่างอาหารที่กินได้และควรเลี่ยง ในภาพน่ารัก ๆ นี้ได้เลยค่ะ

**อายแนะนำเซฟภาพเก็บไว้เลย มีประโยชน์แน่นอนค่าา

 

รูปภาพจากKidney Meal

 

รูปภาพจากKidney Meal

 

รูปภาพจากKidney Meal

 

แถมท้าย เทคนิคการกินยาจับฟอสฟอรัสที่หลายคนอาจยังไม่รู้

 

ยาจับฟอสเฟตมีหลายกลุ่ม หลายประเภท แต่ตัวที่ฮิต ๆ จะเป็น กลุ่มมีแคลเซียม และกลุ่มที่ไม่มีแคลเซียม แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็ทานเหมือนกัน คือ

1.เคี้ยวหลังกินข้าวคำแรกเข้าไป พอเคี้ยวยาเสร็จก็กินข้าวคำถัดไปได้เลยค่ะ เราจะได้รู้สึกถึงรสชาติยาไม่นาน ความสุขในการกินอาหารจะได้กลับมาไวไว เพราะอายเข้าใจว่ารสยามันไม่อร่อยหรอกค่ะ

2.อีกเทคนิคนึงทีเห็นผู้ป่วยทำกันเยอะก็คือ การโรยยาลงไปในข้าว แล้วกิน แต่อายคิดว่าวิธีนี้ก็ลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะโอกาสที่อาหารจะเสียรสชาติไปด้วยก็มีสูงค่ะ

 

สรุป

อ่านมาจนถึงตรงนี้ อายเชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจมากขึ้นแล้วนะคะว่า ทำไมเป็นโรคไตต้องคุมอาหาร ทำไมต้องคุมฟอสฟอรัสด้วย ทั้ง ๆที่มีแต่ของโปรด ทำไมต้องกินยาจับฟอสเฟตด้วยน่าเบื่อ แถมไม่อร่อย แล้วจะทำยังไงให้ความสุขในการกินยังอยู่กับเรา นั่นคือการเปลี่ยนอาหารที่กิน แล้วเลือกอาหารที่กินได้อย่างสบายใจนั่นเอง

 

สุดท้ายนี้ อายขอแชร์จากประสบการณ์ตรงที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตมาว่า 10 ปี (แฟนอายเองค่ะ) เลยนะคะ ว่าเราไม่จำเป็นต้องยอมไม่กินอะไรเลย ไม่แตะอะไร เลยจนร่างกายทรุดโทรม จากการคิดว่าเราถูกห้ามไปหมด กินอะไรก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าหัวใจสำคัญ คือการเลือกอาหารที่เหมาะกับโรคที่เป็น ขึ้นกับปริมาณที่เรากินเข้าไปมากกว่าค่ะ ดังนั้นอายเลยเชื่อว่าถึงจะป่วยเราก็สามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ค่ะ ^^

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Kidney Meal ความรู้เรื่องอาหารโรคไตแบบเข้าใจง่าย