กินเค็ม โซเดียมสูง เสี่ยงโรคเรื้อรัง ความดันสูง หัวใจ อัมพาต
กินเค็ม เสี่ยงโรคไตและความดันสูง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผยตัวเลขคนไทยกินเค็มกว่าปกติ 2-3 เท่า สตรีทฟู๊ดเค็มจัดโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุง เป็นบ่อเกิดโรคไตและความดัน เร่งประสานผู้ประกอบการสร้างผลิตภัณฑ์อ่อนเค็ม ล่าสุดอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรับปากลดเค็มลง 5% ทุกสูตร ขณะที่ สสส.แนะควรเตรียมอาหารด้วยตนเองในบางมื้อ
สังเกตฉลากทางเลือกสุขภาพ ตัวเลือกผลิตภัณฑ์ลดเค็ม
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งให้ความรู้แก่ผู้บริโภค เพื่อปรับและละลายพฤติกรรมของประชาชนให้หันมาใส่ใจ ลด ละ เลิกการบริโภคเค็ม เพราะปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรม กินเค็มสูงขึ้น 2-3 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทางเครือข่ายฯจึงได้ประชาสัมพันธ์และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อลดเค็มให้แก่ผู้บริโภค โดยให้ผู้ประกอบการอาหารติดฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” ขณะมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 633 ผลิตภัณฑ์แล้ว
“ตอนนี้ในอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้มีการพูดคุยและตกลงกันในเบื้องต้นแล้ว ว่าบะหมี่ทุกสูตรของทุกบริษัทจะลดปริมาณโซเดียมลง 5% ถ้าลดแบบนี้จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และผู้บริโภคเองก็จะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของรสชาติ” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
กินเค็ม เสี่ยงโรคเรื้อรัง
ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สังคมเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบอกว่าโซเดียมมีผลต่อโรคไต คนก็จะกลัว โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัย 40 ส่วนคนวันทำงาน 20-30 ยังไม่ค่อยตื่นตัว เรื่องนี้ต้องค่อยๆ ให้ความรู้กันไป และตอนนี้การรณรงค์ของเครือข่ายลดเค็มก็ก้าวหน้าขึ้น เพราะมียุทธศาสตร์ลดเกลือแห่งชาติแล้ว มีกรรมการขับเคลื่อนที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งเป็นสัญญาณเอาจริงในการรณรงค์ให้คนไทยลดบริโภคเกลือ ขณะเดียวกันก็มีภาคเอกชนให้ความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสร้างผลิตภัณฑ์ลดเค็มให้เป็นทางเลือกสุขภาพแก่ผู้บริโภค
“ส่วนมาตรการทางกฎหมายอาจจะเป็นระยะต่อไป แต่อยากให้เกิดความสมัครใจกันมากกว่า ควบคู่กับการให้ความรู้แก่ประชาชน แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ต้องการไม่ให้ประชาชนควรเข้าถึงเกลือได้เท่าไหร่ อันนั้นต้องเป็นกฎหมาย อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห้ามมีเกลือกี่มก.ต่อซอง เป็นต้น”
ทางด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า หลายประเทศรณรงค์ลดบริโภคเค็มหรือลดโซเดียม ให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตราย ขณะนี้คนไทย กินเค็ม บริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลก 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชาต่อวันถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การบริโภคอาหารโซเดียมสูงยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดพฤติกรรมติดเค็ม ทำให้บริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับลดปริมาณโซเดียม
สสส. จึงร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางการปรับลดปริมาณโซเดียมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ การใช้สารทดแทนเกลือ หรือการปรับสูตรอาหารที่ใช้ปริมาณโซเดียมน้อยลง อย่าง ปลาร้า สามารถลดปริมาณโซเดียมลงได้ร้อยละ 50 เป็นต้น
งานวิจัยชี้อาหารสตรีทฟู้ด โซเดียมสูง
“จากการวิจัยปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารสตรีทฟู๊ด พบว่ากับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่องที่จำหน่าย ซึ่งอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ
ดังนั้นถ้าเป็นไปได้เราควรเตรียมอาหารด้วยตนเองในบางมื้อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมมากเกินไป ทั้งนี้จากการทดลองเตรียมน้ำซุปใสที่เติมน้ำปลาที่ให้รสชาติกลมกล่อมเค็มพอดีนั้นจะใช้น้ำปลา 6 กรัมต่อน้ำซุป 200 ซีซีจะมีปริมาณโซเดียมเพียง 600 มิลลิกรัม จึงเป็นไปได้ที่ร้านค้าจะมีการใช้ ผงชูรส ผงปรุงแต่งรสชนิดก้อน/ผง ในปริมาณสูงเกินความจำเป็น
รวมทั้งการใช้ส่วนผสม เช่น ไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ ที่มีโซดียมสูง จึงเป็นผลให้อาหารสตรีทฟู๊ด ที่สำรวจในการศึกษานี้ส่วนใหญ่มีโซเดียมในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าว
รู้แบบนี้เเล้วเลิก กินเค็ม หันมากินอาหารสุขภาพดีกว่า
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate