โยคะวัยเกษียณ เตรียมความพร้อม ก่อนความเสื่อม

โยคะวัยเกษียณ เตรียมความพร้อม ก่อนความเสื่อม

โยคะวัยเกษียณ เตรียมความพร้อม ก่อนความเสื่อมมาเยือน

โยคะวัยเกษียณ จะช่วยสานฝันให้หลายคนที่วางแผนว่า ชีวิตหลังเกษียณจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พักผ่อนหรือได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ทั้งการท่องเที่ยวในที่เคยอยากไป สรรหาอาหารอร่อยๆ มารับประทาน นอนเต็มอิ่ม และที่สำคัญคือ การได้ดูแลสุขภาพอย่างเต็มที่ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณอาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพในบั้นปลายชีวิต ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวที่เคยเป็นแต่เดิม หรือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า หรือข้อเข่าเสื่อม

โรคเหล่านี้จะมีผลต่อร่างกายมากขึ้น ตามวัยที่เพิ่มขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้อยู่ในวัยดังกล่าวเพิ่มตามไปด้วย ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี นักภาษาศาสตร์และวรรณคดี ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและภาษาสันสกฤต เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ของผู้รักสุขภาพ ซึ่งไม่ปล่อยให้วันวานล่วงเลยไป แต่กลับเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อย่างเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุข อาจารย์กุสุมามีวิธีรับมือสุขภาพในวัยเกษียณอย่างไรบ้างนั้น เรามาติดตามพร้อมๆ กันค่ะ

 

จุดเปลี่ยนชีวิตใหม่

ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม ผิวพรรณสดใส และรูปร่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดหลายสิบปี บ่งบอกถึงความมีสุขภาพดีในวันนี้ของอาจารย์กุสุมาได้อย่างดี แต่กว่าจะมีสุขภาพที่ดีอย่างที่หลายคนเห็นกันนั้น อาจารย์เคยประสบปัญหาสุขภาพมาแล้ว แม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับสุขภาพของอาจารย์ในวันนี้

“ตอนนั้นช่วงปี 2522 เราเดินแล้วเท้าซ้ายพลิกอยู่บ่อยๆ และเป็นมานานแล้ว จึงไปให้อาจารย์หมอตรวจก็พบว่า เอ็นข้อเท้าซ้ายหย่อน ซึ่งหมอก็ให้คำแนะนำว่าไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง พร้อมกับให้ท่าบริหารด้วยการเขย่งเท้าขึ้นลง เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อเท้าแข็งแรงและยืดหยุ่นดีขึ้น” หลังจากนั้นไม่นานนัก ในปี 2526 อาจารย์กุสุมาได้เข้าผ่าตัดก้อนเนื้อขนาดเล็กที่มดลูก และเป็นเหตุให้ค้นพบว่า ตัวเองมีกระดูกสันหลังตรง “เพราะต้องเข้าผ่าตัด คุณหมอเลยต้องเอกซเรย์ทั้งตัว จึงได้ทราบว่าเรามีกระดูกสันหลังตรง ผิดปกติจากคนธรรมดาทั่วไปที่จะมีกระดูกสันหลังโค้งเป็นรูปตัวเอส แต่เราก็สบายดี ไม่มีปัญหาอะไร คุณหมอเตือนเพียงว่าต้องระวังตอนอายุมาก เพราะอาจเกิดอาการปวดหลังได้”

หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2538 อาจารย์กุสุมาก็เข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง เนื่องจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อม จนส่งผลให้มีอาการชาที่มือเวลาเขียนหนังสือ ซึ่งการผ่าตัดครั้งนั้นก็ทำให้อาจารย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องสุขภาพกาย โดยเฉพาะกระดูกมากขึ้น ถึงแม้อาจารย์กุสุมาจะดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายมาตั้งแต่ในวัยเด็กไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำแล้วก็ตาม แต่การเจ็บป่วยก็ทำให้อาจารย์ต้องไม่ประมาทกับเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น

แล้วจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของอาจารย์กุสุมาก็เกิดขึ้นในอีกสองปีถัดมา

 

ฝึกโยคะสร้างสุข(ภาพ) ก่อนวัยเกษียณ

“ช่วงปลายปี 2540 หรือก่อนเกษียณ ประมาณสิบปีที่แล้ว ทางบริษัทอมรินทร์ฯ ได้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับโยคะ แล้วมีศัพท์ภาษาสันสกฤต จึงให้เราเข้ามาช่วยดูความถูกต้องในเรื่องภาษา เมื่อได้อ่านหนังสือดูก็มีท่าโยคะท่าหนึ่งน่าสนใจเลยลองทำตาม เพราะช่วงนั้นมีปัญหากระดูกอยู่”

จากการทดลองฝึกท่าโยคะง่ายๆ ในวันนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของอาจารย์กุสุมาจนทุกวันนี้ ทุกๆเช้าหลังจากทำละหมาดเสร็จ อาจารย์จะเริ่มฝึกโยคะท่านั่งที่ห้องนอน ก่อนลงมาทำโยคะท่ายืนต่อที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ซึ่งใช้เวลาการฝึกโยคะทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง เริ่มต้นจาก ท่าฝึกหายใจผ่านรูจมูกทั้งสองข้างเหมือนการทำสมาธิ ประมาณ 1-2 นาที หลังจากนั้นจึงฝึกหายใจสลับรูจมูก ทำเช่นนี้15-20 รอบ ทุกวัน

การฝึกหายใจจะทำให้ร่างกายสดชื่นยิ่งขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น อีกทั้งเป็นการฝึกควบคุมอารมณ์เพื่อให้จิตใจสงบและเป็นสมาธิ อาจารย์กุสุมาเล่าถึงข้อดีที่ได้กับตัวเองว่า

“ประโยชน์ของการฝึกหายใจนี้ถือ เป็นการสำรวจร่างกายตัวเองว่าวันนี้เราสบายดีไหม ถ้าวันไหนรู้สึกหายใจติดๆ ขัดๆ บ้าง แสดงว่าร่างกายอาจไม่สบายได้ ต้องระวังเรื่องหวัด”

หลังจากนั้นอาจารย์จะเริ่ม ท่าบริหารมือ เพื่อให้เลือดหมุนเวียนที่มือดีขึ้นต่อด้วย ท่าหัวถึงเข่า ซึ่งจะเป็นท่าที่ต้องก้มลำตัว คล้ายๆ กับท่ายืดส่วนหลัง ซึ่งช่วยทำให้กระดูกสันหลังและบั้นเอวอ่อนลง กล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น ทำให้เลือดไม่คั่งที่ตับและม้าม ที่สำคัญ ท่านี้ยังช่วยขจัดไขมันบริเวณหน้าท้อง หมดปัญหาเรื่องลงพุง และบรรเทาอาการท้องผูกได้ผลดี

จากนั้นจึงทำต่อด้วย ท่าแมว ช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและข้อต่อกระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นดีขึ้น แถมยังช่วยลดอาการปวดหลังและไหล่ได้ผลดีแล้ว

 

รูปภาพจาก pixels

 

 

อาจารย์จะทำโยคะท่ายืนต่อที่สนามหญ้าหน้าบ้าน เช่น 

 

รูปภาพจาก pixels ท่านักรบ

 

รูปภาพจาก pixels ท่าขาเดียว

 

รูปภาพจาก pixels  ท่าต้นไม้

 

รูปภาพจาก pixels  ท่าร่ายรำ หรือท่าศิวะ

โดยฝึกทำท่าละ 5-10 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ทำตามตำราทั้งหมด แต่ดัดแปลงในแบบของอาจารย์เอง เพื่อให้เข้าใจและทำได้ง่ายขึ้น

“อย่างท่าต้นไม้ เราก็ดัดแปลงเป็นท่าต้นไม้โน้มกิ่ง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อต้นขาน่อง ข้อเท้า และกระดูกสันหลังแข็งแรง เริ่มจากยืนเท้าชิด แขนทั้งสองข้างแนบลำตัว งอเข่าขวา ใช้มือจับข้อเท้าขวา ให้ฝ่าเท้าขวาติดด้านในของต้นขาซ้าย นิ้วเท้าขวาชี้ลงพื้น และทรงตัวด้วยขาข้างซ้าย

“จากนั้นใช้มือทั้งสองข้างประสานกัน ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ คงท่านี้ไว้ หายใจเข้า-ออก 10 ครั้ง จึงค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้าพร้อมกับมือทั้งสองข้างที่ประสานกันชี้ลงพื้น หลังจากนั้นค่อยยกตัวขึ้น ลดแขนและขาขวาลง กลับไปสู่ท่าแรก และทำซ้ำด้วยขาอีกข้างหนึ่ง”

อาจารย์กุสุมาสาธิตโยคะท่าต่างๆ พร้อมกับฝากข้อคิดดีๆ ด้วยว่า “สำหรับผู้สูงวัยที่เริ่มทำ ควรค่อยๆ ฝึกไป อย่าหักโหม เราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนหรือทำได้แค่ไหน ทำใหม่ๆ ก็มีติดขัดบ้าง แต่พอทำไปสักพัก เราจะสามารถยืดเหยียดและก้มได้มากขึ้น” นอกจากโยคะจะทำให้ร่างกายของอาจารย์แข็งแรงขึ้น เรื่อยๆ แล้ว ยังช่วยดูแลจิตใจ สร้างสมาธิ มีสติ และช่วยในเรื่องของความจำได้อย่างดีอีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate

แหล่งที่มา ชีวจิต ฉบับที่ 1 July 2019