เทคนิคกินหวาน ต้านโรคเบาหวาน ชะงัด

เทคนิคกินหวาน ต้านโรคเบาหวาน ชะงัด

เทคนิคกินหวาน กับโรคเบาหวาน ของแถมที่ตามมาคือ ภาวะหัวใจวาย

เป็นโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) แถมก่อมะเร็งมดลูกได้ อย่างไม่ทันตั้งตัว

นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพฮิวสตัน มหาวิทยาลัยเทกซัส (The University of Texas Health Science Center at Houston) ประเทศ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การบริโภคอาหารรสหวาน มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน

สอดคล้องกับผลสำรวจจากศูนย์ควบคุมและ ป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า ผู้ที่ชอบเติมน้ำตาลปริมาณมากลงในอาหารและเครื่องดื่ม มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงกว่าผู้ที่ไม่ชอบกินรสหวานหลายเท่า

นอกจากนี้ สมาคมโรคเบาหวาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) อ้างอิงข้อมูลจาก 11 การศึกษาทั่วโลกและสรุปว่า ผู้ที่ชื่นชอบรสหวานไม่พ้นป่วยเป็นโรคอ้วนลงพุง มีระดับ น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นทั้งโรคเบาหวาน หัวใจ และความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่ดื่มเครื่องดื่ม รสหวานวันละ 1 – 2 แก้ว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เบาหวานมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเลยถึง 26 เปอร์เซ็นต์

 

ฉลาดกินหวานลดโรค

 

 

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินน้ำตาลไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของ ความต้องการพลังงานใน 1 วัน หรือปริมาณที่เหมาะสมสำหรับคนไทย คือ กินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา

เพื่อสุขภาพที่ดี นอกจากเติมน้ำตาลลงในอาหารและเครื่องดื่มตาม ปริมาณที่แนะนำ ควรระวังน้ำตาลที่แฝงมากับอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ตลอดจนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่างๆ ด้วย

การคำนวณปริมาณน้ำตาลเป็นหน่วยช้อนชาจากการอ่านฉลาก โภชนาการ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่วางขายตามท้องตลาดมีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมากน้อยเท่าไร ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อและรู้จักควบคุม ปริมาณน้ำตาลก่อนกินได้อย่างเหมาะสม

 

วิธีคำนวณปริมาณน้ำตาลจากฉลากโภชนาการ

หารปริมาณน้ำตาลที่ระบุบนฉลากโภชนาการเป็นกรัมด้วย 4 จะได้ปริมาณน้ำตาลในหน่วยช้อนชา (น้ำตาล 1 ช้อนชา หนัก 4 กรัม)

 

ทั้งนี้ควรสังเกตจำนวนหน่วยบริโภคบนฉลากโภชนาการร่วมด้วย เช่น หากระบุว่า เครื่องดื่มมีจำนวนหน่วยบริโภคเท่ากับ 2 หมายความว่า เครื่องดื่ม 1 ขวด ควรแบ่งดื่ม 2 ครั้ง ฉะนั้น หากดื่มทีเดียวหมดขวด ต้องคูณปริมาณน้ำตาลที่แสดงบนฉลากโภชนาการด้วย 2

ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มชนิดหนึ่งระบุปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภคเท่ากับ 24 กรัม จำนวนหน่วยบริโภคเท่ากับ 2 (1 ขวดควรแบ่งดื่ม 2 ครั้ง) แสดงว่า เมื่อดื่มผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ หมดขวด ร่างกายจะได้รับน้ำตาล 48 กรัมหรือ 12 ช้อนชา

ลองนำวิธีคำนวณนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารในครัวดูนะคะ รับรองจะช่วยให้เราควบคุมปริมาณน้ำตาลที่กินเข้าไปต่อวันได้ชัวร์

 

 

(สนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 366)

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate