สารทดแทนความหวาน หวานไม่จริง ยิ่งทำให้อ้วน

สารทดแทนความหวาน หวานไม่จริง ยิ่งทำให้อ้วน

ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพและมาตรการเก็บภาษีที่สูงขึ้นทำให้สารพัดแบรนด์เครื่องดื่มต่างทยอยเปิดตัว

สินค้าสูตรแคลอรี่ต่ำรับความต้องการของตลาด หากในเวลาเดียวกันนี้ผู้บริโภคบางส่วนกลับให้ความนิยมเครื่องดื่มที่มีใช้สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาล ด้วยความเชื่อที่ว่าตัวเลือกนี้จะดีต่อสุขภาพไปพร้อมๆ กับได้บริโภคเครื่องดื่มแสนชื่นใจเช่นเดิม

 

สารทดแทนความหวาน มีกี่ประเภท

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือ Sweetener ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติอาหาร ปี พ.ศ. 2552 โดยสารที่ว่านี้สามารถนิยามได้กว้างๆ เป็น 2 ประเภทคือ

1.สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุกโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลจากผลไม้ มอลทิทอล ซอร์บิทอล และไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

 

2.สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส สตีเวีย ซึ่งเป็นสารสกัดจากหญ้าหวาน แอสปาแตม อะซิซัลเฟม-เค แซคคารีนหรือที่เรียกว่าขัณฑสกร สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก มักใช้ทดแทนน้ำตาลสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

 

ข้อดีของสารให้ความหวานคือการกระตุ้นต่อมรับรสหวานได้ และทำให้ผู้บริโภครับรสหวานไม่แตกต่างจากการบริโภคน้ำตาลทรายตามปกติ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหลายชนิดได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกนำมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มหลากชนิดจำนวนมาก

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่พยายามลดการบริโภคน้ำตาล ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพในช่องปาก ขณะเดียวกันผู้บริโภคมักเข้าใจว่าการบริโภคสารเหล่านี้แทนน้ำตาลจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะหัวใจวาย อ้วนลงพุง

 

 

ความจริงของสารทดแทนความหวาน

ถึงตรงนี้จึงเป็นคำถามที่ยังคาใจว่า สารที่ให้ความหวานดีต่อสุขภาพในระยะยาวจริงหรือไม่ ซึ่ง รศ. ทญ. ดร.อรนาฏ มาตังคสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ มีหลักฐานจากการวิจัยในสัตว์ทดลอง และการศึกษาในมนุษย์แบบสังเกตการณ์หลายการศึกษา พบว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างต่อเนื่องในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มน้ำหนักหรือดัชนีมวลกาย และการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อมได้

ถึงแม้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นสาเหตุของการเกิดโรค แต่ผลการศึกษาเหล่านี้แสดงว่า การบริโภคสารทดแทนน้ำตาล อาจไม่สามารถลดผลเสียต่อสุขภาพได้

ยิ่งการส่งเสริมการขายอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็น อาหารเพื่อสุขภาพ นั้นทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านี้จะส่งผลดีต่อสุขภาพ และช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลได้อย่างสมบูรณ์

ผลเสียต่อสุขภาพนี้อาจเนื่องมาจากกลไกการทำงานของซึ่งพบว่าหากมีการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดต่างๆ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสารเหล่านี้สามารถส่งผลต่อเมตาบอลิซึม และกระบวนการทางสรีระวิทยาของร่างกาย เช่น การตอบสนองต่อน้ำตาล การหลั่งอินซูลิน เป็นต้น และอาจส่งผลต่อกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการควบคุมการดูดซึมอาหาร เมตาบอลิซึ่ม และการทำงานของอวัยวะในระบบอื่นๆ

“การให้คำแนะนำผู้บริโภคในการเลือกบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นประจำในระยะยาว เพื่อการควบควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ จึงควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ของการเกิดผลเสียต่อสุขภาพด้วย โดยควรสนับสนุนให้ผู้บริโภคทดแทนเครื่องดื่มผสมน้ำตาลด้วยน้ำดื่มที่ไม่ได้ปรุงรสหวานมากกว่า” รศ. ทญ. ดร.อรนาฏ กล่าว

มากกว่านั้นน้ำตาลเทียมกระตุ้นการตอบสนองของอินซูลินในร่างกาย อีกทั้งการใช้น้ำตาลเทียมนั้น ยังทำหน้าที่หลอกลิ้นซึ่งเป็นอวัยวะรับรสว่าหวาน แต่สมองที่ต้องการน้ำตาลจริงไม่ได้รับน้ำตาลความหวานตามที่ต้องการ จึงอาจเกิดการกระตุ้นทำให้อยากกินน้ำตาลมากขึ้นๆ เพื่อให้หายอยากในภายหลัง และนั้นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอ้วน

สารให้ความหวานที่เราอยากให้เป็นตัวช่วยในการดูแลสุขภาพในตอนแรก จึงกลายเป็นตัวร้ายในตอนหลังที่ทำโรคภัยที่เราไม่คาดคิดมาก่อนแบบไม่รู้ตัว

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate