ชาสมุนไพรและอาหารจีน ลดน้ำตาล ป้องกันเบาหวานขึ้นตา
ป้องกันเบาหวานขึ้นตา ในทางการแพทย์แผนจีนเรียก โรคเบาหวาน ว่า เซียวเคอ อาการหลักๆ ที่แสดงให้เห็นคือ ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ ถ้าหิวจะทนไม่ได้อาจมีอาการตัวสั่น อ่อนแรง ตาพร่ามัว ขี้ตาแฉะ คันตามตัว ถ้าเป็นแผลแล้วจะหายยาก
โดยการแพทย์แผนจีนมองว่า เบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลมาก น้ำตาลคือความหวาน เป็นพลังหยางที่มีมากเกินไป ถ้ามองในแง่ความสมดุล หยางคือการเคลื่อนไหว หากมีมากเกินไปก็จะทำให้เราหิวน้ำบ่อยหิวข้าว ส่วนการปัสสาวะบ่อยคือการที่ร่างกายเคลื่อนไหวให้มีการขับน้ำออกมา ทีนี้การรักษาต้องเติมอินหรือบำรุงอินเข้าไป แล้วควบคุมหยางไม่ให้มีมากเกินไป เราสามารถพบเบาหวานได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กจะเรียกว่า เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินมาย่อยน้ำตา จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ส่วนในผู้ใหญ่เรียกว่า เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมาน้อย ไม่เพียงพอต่อการย่อยน้ำตาล
ตำรับชาและอาหารจีนลดน้ำตาลในเลือด
คราวนี้มาดูกันว่าชาและอาหารชนิดใดบ้างที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ อาหารกลุ่มนี้ควรเพิ่มสารน้ำ มีฤทธิ์เย็น เช่น มะระ
มะระ
ในที่นี้ใช้ได้ทั้งมะระจีนและมะระขี้นก ถ้าเป็นมะระจีนควรกินครั้งละ 50 – 100 กรัมหรือถ้าต้มตมเป็นซุปก็ประมาณหนึ่งถ้วย ส่วนมะระขี้นกแห้ง แนะนำให้ดื่มก่อนมื้ออาหาร ครั้งละ 10 กรัม
มาหย่า หรือ ข้าวมอลต์
สามารถนำมาตากแห้งทำเป็นชาข้าวมอลต์ที่มีกลิ่นหอมมาก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือกควรใช้ชาแห้งครั้งละ 10 กรัมโดยใส่ชาลงในหม้อต้มกับน้ำให้เดือด กรองเฉพาะน้ำมาดื่มกากชาที่เหลือสามารถเทน้ำร้อนเติมลงไป แล้วนำมาดื่มได้ตลอดวัน
ซานเหย้า
คือมันเทศชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ช่วยบำรุงม้าม กระเพาะอาหาร คนไข้โรคเบาหวาน ม้าม กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน จะอ่อนแอ เราสามารถนำซานเหย้ามาทำอาหารเพื่อบรรเทาโรคเบาหวานได้หลายอย่าง เช่น คุกกี้ ซานเหย้านึ่ง หรือชาซานเหย้า โดยการนำมาต้มกับน้ำ ใส่หญ้าหวานลงไป จากนั้นนำมากินทั้งน้ำและเนื้อ
ในเมืองไทยหาซื้อซานเหย้าได้ตามตลาดขายอาหารและสมุนไพรจีนใหญ่ๆ เช่น เยาวราช ส่วนในเมืองจีน คนจีนนิยมกินซานเหย้าก่อนกินข้าว เพื่อช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อย ไม่ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เมนูที่คนจีนชอบกินคือ นำซานเหย้ามาผัดกับเห็ดหูหนูดำ ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู ซอสเปรี้ยว ผัดเสร็จแช่ให้เย็นแล้วจึงนำออกมากิน
ฟักทอง ถั่วเขียวต้ม
ใช้ฟักทอง 500 กรมั ถั่วเขียว 250 กรมโดยหั่นฟักทองเป็นชิ้นเล็ก นำถั่วเขียวต้มกับน้ำให้สุก จากนั้นใส่ฟักทองลงไป ใส่หญ้าหวานเล็กน้อย ต้มให้ฟักทองสุก กินน้ำและเนื้อ วันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น จะช่วยลดน้ำตาลในเลือด ทำให้ตัวเย็นลง เพราะถั่วเขียวมีฤทธิ์ลดความร้อน จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
ชาซานเหย้าแห้ง หวงฉี บ๊วยดำ
สำหรับชาสูตรนี้เราใช้ซานเหย้าตากแห้งที่ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร หวงฉี บำรุงชี่เพิ่มพลังงานร่างกาย และบ๊วยดำเพิ่มกลิ่นหอม ใช้ซานเหย้าและหวงฉีอย่างละ 30 กรัม บ๊วยดำ 1 เม็ด ชงกับน้ำร้อน 500 ซีซี จิบได้ตลอดวัน แต่ชาสูตรนี้ไม่เหมาะกับคนที่ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย หรือเป็นไข้หวัด
ชาเก๋ากี้ ซานจา
ชาตำรับนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานขึ้นตา เก๋ากี้บำรุงไต บำรุงตับ ส่วนซานจาบำรุงม้าม กระเพาะอาหาร วิธีชงคือ ใส่เก๋ากี้และซานจาอย่างละเท่าๆ กัน ชงกับน้ำร้อน ดื่มเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล จะสังเกตได้ว่าชาและอาหารที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดจะมีรสเปรี้ยวและขม ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีปัญจธาตุที่มีเรื่องสีและรสที่สังกัดเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าการกินหวานมากจะทำลายตับ ตับอ่อน รสขมนั้นมีฤทธิ์เย็น จึงช่วยลดความร้อน ส่วนรสเปรี้ยวจะช่วยระบายตับที่อุดกั้น
นอกจากชาและอาหารที่ต้องดูแลแล้ว คนไข้ต้องควบคุมเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกด้วย เพราะเกี่ยวพันกับอวัยวะตับ โกรธ โมโห เสียใจมาก ก็ทำให้ตับทำงานผิดปกติได้เช่นกัน รวมถึงต้องหม่นั ออกกำลังกายด้วยเพื่อให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างสมดุล
จาก คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 462
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate