เป็นโรคไต กินวิตามินได้ไหม ?

เป็นโรคไต กินวิตามินได้ไหม ?

เชื่อไหมคะว่า อาการเหล่านี้ เกิดจากการขาดวิตามิน

เพื่อน ๆ ลองเช็คตัวเองดูสิคะ ว่า เรากำลังมีอาการเหล่านี้ไหม ?

 

เป็นเหน็บชาประจำ

คุณหมอบอกว่ามีภาวะซีด  อ่อนเพลีย และเป็นตะคริวบ่อย ปวดหัวไมเกรน  แขนอ่อนแรง มึนงงบ่อย  แผลหายช้า

โดยปกติแล้ว คนทั่วไป ไม่ค่อยขาดวิตามิน เพราะว่าเราได้รับจากอาหารกันอยู่แล้ว

ถ้ายิ่งกินอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ก็ยิ่งได้รับวิตามินที่ครบถ้วนตามไปด้วย

 

แต่ประเด็นก็คือ… เวลาที่ไตทำงานผิดปกติ หรือไตเสื่อม ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินบางตัวเอาไว้ได้

แล้วยิ่งกับผู้ป่วยโรคไตที่เข้มงวดเรื่องอาหารมาก ไม่สามารถกินอาหารบางประเภทได้

โดยเฉพาะพวกธัญพืช ที่มีสารอาหารสูง ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินไม่เพียงพอนั่นเองค่ะ

 

ดังนั้น คุณหมอจึงมักจะสั่งวิตามิน ให้กับผู้ป่วยโรคไต เพื่อที่เราจะได้ไม่ขาดวิตามินที่จำเป็นกัน

วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าวิตามินอะไรบ้าง ที่สำคัญกับคนที่เป็นโรคไต ^^

 

แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์กับตัวคุณ

หรือกับเพื่อน ๆ ของคุณ ช่วยแชร์กันไปได้เลยนะคะ อายจะขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ

 

1. วิตามินบีรวม (Vitamin B Complex)

 

 

วิตามิน B นี้ มักอยู่ในอาหารที่คนเป็นโรคไตกินได้ไม่ หรือกินได้น้อย ๆ อย่างพวกนม ธัญพืช เครื่องในสัตว์

ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคไตเลยได้กินวิตามิน B Complex เสริมกันตลอด ที่ขึ้นชื่อว่า รวม ก็หมายถึง เป็นวิตามินย่อย ๆ ที่มารวมกันหลาย ๆ ตัว ดังต่อไปนี้ค่ะ…

 

 

Vitamin B1 (Thiamin)

 

เป็นวิตามินที่โดนถูกดึงออกไปจากการฟอกไต ซึงวิตามินตัวนี้มีความจำเป็นในระบบประสาท

ระบบย่อยอาหาร หัวใจ และกล้ามเนื้อ ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน
ถ้าขาด จะมีอาการรู้สึกสับสนได้ และจะมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า ตากระตุก

แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม ซึมเศร้าไม่ทราบสาเหตุ กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น

ถ้าทำการ Echo อาจพบว่าหัวใจมีขนาดโตขึ้น

มักพบใน เนื้อหมู จมูกข้าวสาลี ถั่ว น้ำเต้าหู้

 

Vitamin B2

 

ตัวนี้ใช้ในการเจริญเติบโต ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด อันเป็นสาเหตูให้เส้นเลือดแข็งตัว

ขจัดไขมันชนิดอิ่มตัวในเส้นเลือด เหตุนี้เองวิตามินบี2 จึงได้สมญาว่า “วิตามินป้องกันไขมัน”

มักพบใน นม ตับ ข้าวโอ๊ต

 

 

 

Vitamin B3 (Niacin)

 

สามารถต่อสู้กับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจเป็นจำนวนมาก

ช่วยให้อาการต่างๆ ของผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้น ช่วยรักษาโรคปวดหัวไมเกรน และช่วยลดความดันโลหิตสูง

มักพบใน เนื้อสัตว์ ตับ ข้าวโอ๊ต ถั่ว

 

 

 

Vitamin B5 (Pantothenic Acid)

 

ช่วยในการสร้างความเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยสร้างเซลล์ใหม่และช่วยบำรุงระบบประสาท

เป็นตัวสำคัญในการเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น

และช่วยให้ร่างกายหายจากการช็อกหลังการผ่าตัดใหญ่

มักพบใน เนื้อไก่ เนื้อวัว ตับ มะเขือเทศ

 

 

Vitamin B6 (Pyridoxine)

 

มักสูญเสียไปเพราะของเสียในเลือดของผู้ป่วยโรคไต ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ช่วยสร้างเม็ดเลือด ผลิตสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยแก้การเป็นตะคริว แขนขาชาและช่วยขับปัสสาวะ

มักพบใน เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ ตับ มันฝรั่ง กล้วย

 

 

Vitamin B12 (Cyanocobalamin)

 

ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

ควรกินวิตามินชนิดนี้ควบคู่กับแคลเซียมจะทำให้การดูดซึมสู่ร่างกายดีขึ้น ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี ความจำดีและมีสมาธิ มักพบในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นม โยเกิร์ต

 

 

Vitamin B9 (Folic Acid)

 

ทำงานร่วมกับวิตามิน บี 12 ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง บรรเทาอาการหมดแรง

หงุดหงิดง่าย ปวดศรีษะ อาการหลงลืม บรรเทาอาการทางประสาท

มักพบในผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา

 

 

 

2. Vitamin C

 

 

ช่วยให้แผลหายเร็ว ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (กินวิตามินซีเลยไม่ค่อยเป็นหวัด) ช่วยสร้างคอลลาเจน และต้านอนุมูลอิสระ  มักพบใน ฝรั่ง สัปปะรด ส้ม มะเขือเทศ พริกต่าง ๆ

 

 

3. Vitamin D

 

ตัวนี้ผู้ป่วยบางคนอาจได้กิน บางคนอาจไม่ได้กิน ขึ้นกับผลเลือดของผู้ป่วยแต่ละคนค่ะ

แต่ถ้า ผู้ป่วยกินจนแคลเซียมสูงเกินระดับ 10.2 mg/dl จะต้องหยุดทาน เพราะวิตามินดีมีผลเพิ่มระดับฟอสเฟตและแคลเซียมในเลือดด้วย

 

ซึ่งวิตามินดีนี้ คุณหมอจะเป็นคนสั่งยา และหยุดยาให้เราเองค่ะ (อย่าไปหาทานเองนะคะ อันตรายมาก) วิตามินดีจะช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียม เรื่องกระดูก และระบบสมอง มักพบในพริกหวาน ผักใบเขียว เห็ด ปลาแซลมอน

 

 

** จำง่าย ๆ ว่า วิตามินที่ละลายในไขมัน อย่าง วิตามิน A, D, E, K ผู้ป่วยไม่ควรซื้อทานเอง เพราะถ้าทานไม่เหมาะสม หรือทานมากเกินไป อาจสะสมและอันตรายต่อร่างกายได้ค่ะ ***

 

 

4. ธาตุเหล็ก (Iron)

 

ตัวนี้ก็จะมี 2 แบบคือ แบบเม็ด กับเป็นยาฉีด แล้วแต่ผลเลือดของแต่ละคนเช่นเดียวกับวิตามินดี ถ้าผลการตรวจพบว่าธาตุเหล็กในร่างกายต่ำ คุณหมอจะเป็นคนสั่งให้เราทาน หรือให้พยาบาลฉีดให้ค่ะ

 

สุดท้ายนี้ อายอยากจะฝากไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้สุขภาพแข็งแรง ถึงจะป่วย แต่ก็เป็นคนป่วยที่ดูดี “อาหาร” เป็นตัวแปรที่สำคัญมากจริง ๆ ค่ะ

 

รวมถึงอาการขาดวิตามิน ขาดโปรตีน หรือการมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้ว มักมาจากการกินอาหารนี่ล่ะค่ะ เพราะฉะนั้น เรามาใส่ใจและดูแลตัวเอง (หรือคนที่เรารัก) ด้วยการเลือกกินอาหารที่หลากหลาย และเหมาะกับโรคกันนะคะ

 

**และที่สำคัญ เวลาจะกินวิตามินหรืออาหารเสริม แนะนำว่าควรปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ**

 

ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้าค่ะ 

 

อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้คนที่คุณรักกันด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง :

หนังสือ อาหารบำบัดโรค

www.smj.ejnal.com

kidneythailand.blogspot.com

visitdrsant.blogspot.com

www.thai-bio.com

www.med.cmu.ac.th

ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash

ขอขอบคุณข้อมูลจาก kidneymeal