4 ของกินที่ผู้ป่วยโรคไตเข้าใจผิด คิดว่ากินไม่ได้

4 ของกินที่ผู้ป่วยโรคไตเข้าใจผิด คิดว่ากินไม่ได้

เป็นโรคไต กินเครื่องปรุงลดโซเดียม , เนย , ผงฟู, ผงปรุงรส ได้ไหม ?

อายเชื่อว่า คงจะมีทั้งคนที่ตอบว่า “ได้” และตอบว่า “ไม่ได้” แต่คำตอบจะเป็นอย่างไหน และเพราะอะไร วันนี้เรามาดูไปพร้อมกันเลยค่าา

 

**ขอบอกก่อนนะคะว่า เนื้อหาที่รวบรวมไว้ในบทความนี้ ล้วนมาจากคำถามที่เจอประจำ และเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันเยอะจริง ๆ ต้องตอบซ้ำบ่อยมาก เพื่อความสะดวกทั้งผู้อ่าน และผู้ตอบ อายก็เลยเอามารวมไว้ที่นี่นั่นเอง

 

แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ช่วยแชร์ไปให้เพื่อน ๆ กันด้วยนะคะ ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ

 

 

 

1.เป็นโรคไต ใช้เครื่องปรุงลดโซเดียมดีไหม ?

หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้รับคำแนะนำ หรืออาจมีคนซื้อมาฝากบ่อย ๆ เพราะคิดว่า เครื่องปรุงนี้น่าจะดีต่อผู้ป่วยโรคไต วันนี้เรามาดูกันค่ะว่าจริงหรือเปล่า

 

เครื่องปรุงลดโซเดียม คืออะไรกันแน่ ?

เนื่องจากโซเดียมมักอยู่ในเครื่องปรุงแทบทุกชนิด และผู้ป่วยโรคไต ที่ไตเสื่อม (ทุกระยะ) ก็ต้องระวังเจ้าโซเดียมนี่เป็นพิเศษ

หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ปรุงมันซะเลย (งดการปรุง) โดยหันมาทานเป็นอาหารซุปเปอร์คลีน หรือธรรมชาติสุด ๆ ไม่ปรุงแต่งรสใด ๆ ซึ่งแบบนี้มันก็ทำได้ค่ะ แต่ยาก และมักมีปัญหาตามมาก็คือ เบื่ออาหาร ขาดสารอาหาร ผอมลงเรื่อย ๆ ทานข้าวได้น้อยลงร่างกายอ่อนแอ ดังนั้น อายไม่แนะนำให้เคร่งหรือหักดิบขนาดนั้นนะคะ ก็ควรจะปรุงบ้าง แค่รสไม่ต้องจัดเท่านั้นเอง

ทั้งหมดนี้พูดง่าย ๆ ว่า “ไม่ปรุงเลยก็ไม่ดี เพราะอาหารจะไม่อร่อย ไม่น่ากิน แต่ถ้าปรุงมากไปก็ไม่ได้ เพราะต้องคุมโซเดียม”

เครื่องปรุงลดโซเดียม จึงได้เกิดขึ้นมานั่นเอง โดยเครื่องปรุงประเภทนี้ เขาจะลดโซเดียมลง ด้วยการใช้เกลือโพแทสเซียมแทน  ซึ่งบอกเลยค่ะว่า มันตอบโจทย์กลุ่มคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกับโรคหัวใจมาก ๆ เพราะว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้ก็ต้องควบคุมโซเดียมในแต่ละวันเหมือนกับผู้ป่วยโรคไตนี่ล่ะค่ะ  แต่ประเด็นก็คือ แม้ว่าจะคุมโซเดียมเหมือนกัน แต่มีเพียงผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น ที่ต้องคุมโพแทสเซียม เพิ่มอีกตัวนึงด้วย

…ดังนั้น จึงพูดได้ไม่เต็มปาก ว่าเครื่องปรุงแบบนี้ดีกับผู้ป่วยโรคไต แถมที่ฉลากข้างขวด เราจะเห็นเขาเขียนกำกับไว้ว่า

 

**ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต** อีกต่างหากนะคะ

 

สรุปก็คือ ความเข้าใจผิดที่ว่า เครื่องปรุงลดโซเดียม คือ เค็มน้อย ผู้ป่วยโรคไตจึงทานได้ นั้น ไม่จริงค่ะ เราต้องดูผลเลือดประกอบด้วยยิ่งถ้าใครโพแทสเซียมสูงอยู่ ก็ไม่ควรจะแตะเลยนะคะ แต่ถ้าไม่ได้มีปัญหาโพแทสเซียมสูง ก็สามารถทานได้ค่ะ

 

**ส่วนตัวอาย และนักกำหนดอาหารหลาย ๆ ท่านที่อายไปปรึกษาเรื่องนี้ ต่างก็เห็นตรงกันว่า การใช้เครื่องปรุงปกติ แต่ใช้ปริมาณน้อย ดูจะเหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากกว่านะคะ**

 

 

 

2. เป็นโรคไต ทำไมกินเนยไม่ได้ ?

เนย (butter) ทำมาจากไขมันนม ซึ่งส่วนนี้ จะมีฟอสฟอรัสที่ต่ำกว่าพวกชีสที่ทำมาจากนมโดยตรง (เนยที่พูดกันว่าฟอสฟอรัสสูง ที่จริงแล้ว ต้องเป็น ชนิดเนยแข็ง ต่างหากค่ะ)

 

โดยเนยที่นิยมใช้ จะมีอยู่ 2 แบบคือ

 

1. เนยเค็ม ตัวนี้เป็นเนยทาขนมปัง และใช้ทำขนม ทำเบเกอรี่มากที่สุด แต่ไม่แนะนำให้คนที่เป็นโรคไตทาน เพราะเนยนี้จะมีการใส่เกลือลงไปด้วย เลยออกมาเป็นเนยเค็ม โซเดียมจะสูงไปด้วย

 

2. เนยจืด ตัวนี้เป็นตัวที่แนะนำค่ะ แต่ว่าจะต้องเลือกยี่ห้อ และดูไปถึงส่วนผสมด้วย เพราะบางทีจะมีบางยี่ห้อที่ผสมนมลงไป ผสมน้ำมัน หรือมีการแต่งเติมด้วยสารต่าง ๆ ทำให้ฟอสฟอรัสยังสูงอยู่

แต่ถ้าเป็นเนยสดแท้ แบบ 100% ฟอสฟอรัสจึงจะต่ำค่ะ

 

**เนยจืด 100 กรัม มีฟอสฟอรัส 24 mg. (ถ้าฟอสฟอรัสต่ำ ค่าจะไม่เกิน 50 mg.)

 

ส่วนคำพูดที่ว่า เนยแท้มีไขมันทรานส์สูง นั้นก็ไม่จริงเช่นกันค่ะ

 

เนยแท้ มีไขมันทรานส์ที่หลากหลายตั้งแต่ 0% ไปจนถึง 4% ขึ้นกับยี่ห้อ ไขมันทรานส์ที่มีอยู่ในเนยแท้นั้น เป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดในปริมาณที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับพวกมาการีน ที่เป็นเนยเทียม หรือเนยคุณภาพต่ำ ที่มีไขมันทรานส์สูง

 

สรุปก็คือ เป็นโรคไต สามารถกินเนยได้ แต่ควรเลือกชนิดจืด และเป็นชนิดเนยสดแท้ 100% ไม่ควรใช้แบบเนยผสม หรือเนยเทียม จะเอามาทำขนม หรือทาขนมปังทานก็ได้ตามชอบเลยค่ะ

 

 

 

3.เป็นโรคไต ไม่ควรกินเบเกอรี่ที่ใส่ผงฟูจริงหรือ ?

 

ข้อนี้ต้องบอกว่า เป็นอะไรที่สงสัยกันเยอะจริง ๆ แถมเข้าใจผิดกันเยอะด้วยค่ะ จริง ๆ แล้วถ้าพูดคำว่า ผงฟู จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

ชนิดเบกกิ้งโซดา ที่เป็นผงโซเดียมไบคาร์บอเนต ชื่อก็บอกตรง ๆ เลยค่ะ ว่ากินแล้วได้โซเดียมแน่นอน ที่สำคัญ สารนี้ร่างกายดูดซึมได้ 100% เลยด้วย กินเข้าไปเท่าไหร่ ก็ดูดซึม และสะสมในเลือดเท่านั้น

ชนิดเบกกิ้งพาวเดอร์ (มีสูตรกำลัง 1 และสูตรกำลัง 2) ที่เป็นผงผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต + โซเดียมแอซิตไพโรฟอสเฟต + โซเดียมอะลูมิเนียมซัลเฟต ชื่ออาจจะดูยาว ๆ นะคะ แต่จะเห็นได้ว่า มีคำว่า ฟอสเฟต + โซเดียม นั่นแปลว่าเรากินแล้วได้เจ้าสองตัวนี้นั่นเอง

 

 

ถามว่า ตกลงผู้ป่วยโรคไตกินผงฟูพวกนี้ได้ไหม ?

 

คำตอบก็คือ ได้ค่ะ ไม่ได้ห้ามแตะเด็ดขาด เพียงแต่ที่เราถูกคุณหมอ คุณพยาบาลห้ามกัน เป็นเพราะปริมาณที่ใส่ต่างหาก !! ปกติแล้วขนมที่เป็นกลุ่มเบเกอรี่ มักจะใส่ผงฟูพวกนี้เยอะ เพราะว่ามันช่วยให้ขนมดูชิ้นใหญ่ ขึ้นฟูดี และมีโพรงมาก ไม่แข็ง

ก็เลยใส่เข้าไปมาก ซึ่งคนทั่วไปทานได้ไม่มีปัญหาอะไร

..แต่คนเป็นโรคไตนี่สิคะ ที่อันตราย ดังนั้น ขนมหมวดนี้เลยเป็นหมวดต้องห้าม ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็ทานได้ล่ะค่ะ เพียงแต่อาจจะต้องทำเอง หรือต้องดูเจ้าที่ใช้ผงฟูน้อยจริง ๆ จึงจะปลอดภัยหายห่วงค่า

 

 

อาหารที่มักใส่ผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท ปาท่องโก๋ ซาลาเปา ขนมอบกรอบบางชนิด เป็นต้น

 

 

 

 

4.เป็นโรคไต ใช้ผงปรุงรส ให้อาหารอร่อยขึ้นได้ไหม?

 

ผงปรุงรส, คนอร์, ซุปก้อน, รสดี เอามาปรุงอาหารได้ไหม อายบอกเลยว่า ได้ค่ะ แต่ควรใช้ปริมาณน้อย ๆ เพราะพวกนี้ก็มีสารหลายตัวที่เราต้องจำกัด โดยเฉพาะโซเดียม (พวกนี้ใส่ทั้งผงชูรสและเกลือด้วยนะคะ) แต่ถ้าใช้เพียงเล็กน้อย ยังไงก็ไม่มีปัญหาค่ะ

แต่หากอาหารไม่อร่อย อายก็แนะนำให้ใส่ได้นะคะ ไม่งั้น ผู้ป่วยคงทรมานแย่เลย ถ้าต้องทานอาหารจืดชืด ไม่กลมกล่อมเอาซะเลย

แต่ถ้าบ้านไหนที่มีฝีมือ ปรุงอาหารอร่อยอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ อาจจะใช้เป็นพวกเครื่องเทศมาให้ความอร่อยแทนก็ได้นะคะ อย่างเช่น พริก มะนาว พริกไทย ขิง ข่า กระชาย ตะไคร้

 

 

ปริมาณโซเดียมในซุปก้อน 1 ก้อน น้ำหนัก 40 กรัม มี 2,600 มก. (1 วันเราควรได้รับ ไม่เกิน 2,400 มก.) ดูแบบนี้ อาจจะคิดว่ากินไม่ได้ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราใส่เพียงเล็กน้อย สมมติสัก 4 กรัม ก็เท่ากับเราจะได้รับเพียง 260 มก. ต่อซุป 1 หม้อ หรือต่อกับข้าว 1 อย่าง ที่

ทานกัน 2-3 คน ซึ่งน้อยมาก จึงกินได้ค่ะ

 

สรุปก็คือ ผงปรุงรส คนอร์ ซุปก้อน เป็นโรคไตก็ทานได้นะคะ เพียงแต่ใส่ในปริมาณน้อยเท่านั้นเอง อ้อ อายมีแนะนำผงปรุงรสยี่ห้อนึง  ชื่อ เรียล (Real) ที่เขาคิดค้นมาเพื่อผู้ป่วยโรคไตโดยเฉพาะด้วยค่ะ ใครสนใจเข้าไปดูในนี้ได้ ที่นี่ค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับ 4 อาหารที่ผู้ป่วยมักเข้าใจผิด คิดว่ากินไม่ได้ รู้แบบนี้แล้วอยากกินกันเลยใช่ไหมล่ะคะ สุดท้ายนี้ อายอยากจะ

 

ฝากไว้ว่า การกินอาหารต้องกินให้สมดุล หลายหลาย ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อสุขภาพและผลเลือดที่ดีของตัวเรา และคนที่เรารักนะคะ

 

ขอให้ทุกคนมีความสุขและแข็งแรง ๆ กันถ้วนหน้า นะคะ  อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ ^^

 

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.sanook.com/health/6317/

http://www.adrenalinerushdiaries.com

http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0201/baking-powder

https://www.ezygodiet.com

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash

ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels

ขอขอบคุณข้อมูลจาก kidneymeal