บริหารปอด เพิ่มความแข็งแรงของปอดและหัวใจ (Cardiovascular)
บริหารปอด เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพราะอะไรถึงจำเป็นนั้น เราลองมาฟังคำตอบกัน
เพราะเนื่องจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ จำเป็นต้องส่งเสริมระบบภายในให้สมดุลพร้อมต่อสู้กับโรคภัยที่เป็นอยู่การออกกำลังกายทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญ จะช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้เช่นกัน
คุณกัลธิมา รัตนศฤงคาร นักกายภาพบำบัดกล่าวว่า
“ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบว่าปอดไม่แข็งแรงออกกำลังกายได้น้อย ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีอาการอ่อนล้า แนวทางการบริหารในผู้ป่วยโรคไตที่แนะนำจึงเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปอดให้แข็งแรง การบริหารที่แนะนำจึงเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องให้ร่างกายรับออกซิเจนเข้าไปใช้
รูปภาพจาก pixels
3 วิธีบริหาร ช่วยปอดแข็งเเรง
คุณกัลธิมาแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยสามารถทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. อบอุ่นร่างกายก่อน 5 – 10 นาที ด้วยท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้
– ใช้มือทั้งสองข้างจับไหล่ กางแขนออก หมุนข้อศอกเป็นวงกลม แล้วนำศอกมาชิดกัน
– ยื่นแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้าระดับเสมอไหล่ เหยียดนิ้วมือออก
รูปภาพจาก pixels
– ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ โยกตัวไปทางซ้ายและทางขวา
– นั่งบนเก้าอี้ ยกเท้าทั้งสองขึ้นจนเข่าตึง กระดกปลายเท้าขึ้นและเหยียดออก (ทุกท่าสามารถทำซ้ำได้เรื่อย ๆ )
2. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน เดินเร็ว จ๊อกกิ้งหรือปั่นจักรยาน โดยใช้เวลา 5 – 30 นาที แล้วแต่ความแข็งแรงของร่างกาย
รูปภาพจาก pixels
Tip: ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย ซึ่งเป็นการออกกำลังกายเฉพาะส่วน เช่น การยกน้ำหนัก ดึงยางยืด หรือนั่งยกขาทีละข้าง
รูปภาพจาก pixels
3. กลับมาใช้ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดระดับการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ประมาณ 5 – 10 นาที ก่อนจะหยุดออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบวมหรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ข้อต่อไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้แพทย์แนะนำแนวทางการบริหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate
แหล่งที่มา ชีวจิต ฉบับที่ 10 December 2018