ออกกำลังกายแอโรบิก ช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้จริง

ออกกำลังกายแอโรบิก ช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้จริง

ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน

ออกกำลังกายแอโรบิก นอกจากจะช่วยให้หัวใจเราแข็งเเรงแล้ว รู้หรือไม่ว่าสามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้อีกด้วย เป็นเพราะอะไรนั้น เราลองมาดูกันครับ

 

เบาหวานกับการออกกำลังกายแอโรบิก

โรคเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกแบ่งโรคเบาหวานออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

ประเภท 1 คือ ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนชนิดดังกล่าวทำให้ไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยโรคเบาหวานประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันได้

 

ประเภท 2 คือ ตับอ่อนสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่ฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าเซลล์ได้ หรือเรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเบาหวานชนิดนี้สามารถป้องกันได้ 

 

นายแพทย์กรกฎ อธิบายประโยชน์ของการ ออกกำลังกายแอโรบิก ที่มีต่อโรคเบาหวานว่า “การออกกำลังกายแบบแอโรบิกช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทบริเวณตับอ่อน ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนอินซูลินลดลง (แต่อยู่ในระดับที่สามารถคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ) และฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) สูงขึ้น จึงสามารถนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น และเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ จึงช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อสามารถนำกลูโคสเข้าเซลล์ได้ดีขึ้นอีกด้วย”

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แนะนำว่า การเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายความหนักระดับปานกลางวันละ 30 นาที ร่วมกับการควบคุมอาหาร สามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

 

งานวิจัยจากวารสาร Metabolism และ Diabete Care พบว่า การออกกำลังกายแบบมีเเรงต้านและการออกกำลังกายแบบแอโรบิกช่วยลดระดับการเพิ่มขึ้นของกลูโคสในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินสามารถนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น และลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากวารสารฉบับเดียวกันยังพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกด้วยความหนักระดับปานกลางสามารถป้องกันโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อีกด้วย

 

Expert Recommended

สมาคมโรคเบาหวาน ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำวิธีออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพื่อป้องกันโรคเบาหวานไว้ ดังต่อไปนี้

 

 

ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกด้วยความหนักระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที  หรือวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน และไม่ควรหยุดออกกำลังกายติดต่อกันเกิน 2 วัน

ในช่วงเริ่มต้นให้เริ่มจากการออกกำลังกายวันละ 5 - 10 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ จนครบสัปดาห์

หากมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา ไม่สามารถออกกำลังกายในแต่ละวันได้ครบ 30 นาที สามารถเดินเร็วในช่วงหลังมื้ออาหารมื้อละ 30 นาที หรือออกกำลังกายหลังจากตื่นนอน 15 นาที และช่วงเย็นหลังเลิกงานอีก 15 นาทีได้

 

 

เห็นโปรแกรม ออกกำลังกายแอโรบิก ที่เรานำมาฝากกันแล้ว ทำตามไม่ยากเลยนะครับ ขอเพียงมีใจรักสุขภาพและมีวินัยในตนเอง

รับรองว่า คุณจะสามารถป้องกันหรือบรรเทาอาการป่วยจากโรค NCDs ได้แน่นอนครับ

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate