7 ข้อ ทำตามด่วน ป้องกันอัลไซเมอร์ หลงลืมก่อนวัย

7 ข้อ ทำตามด่วน ป้องกันอัลไซเมอร์ หลงลืมก่อนวัย

ป้องกันอัลไซเมอร์ อย่าว่าแต่คุณผู้อ่านเลยครับ ผมก็กลัวเป็นคนขี้หลงขี้ลืมเหมือนกัน ตอนหนุ่มๆ

ทำงานยุ่งขับรถไปซื้อของแล้วเคยลืมเมียไว้ที่ร้านขายของ แต่เมียก็ให้อภัยว่าสามีทำงานหลาบอย่าง (Multitasking) จึงกลายเป็นตลกที่ได้คะแนนไป แต่พอแก่ตัวแล้วนี่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรหลายอย่างเหมือนตอนหนุ่มๆ เลย มันกลับลืมอะไรง่ายมาก ต้องคอยจดคอยท่องไว้จึงจะเอาตัวรอดได้

 

แต่ผมก็ยังดีกว่าพยาบาลของผมคนหนึ่งนะครบ ลูกเธอไม่สบาย เธอไปเปิดตู้เย็นจะเอายาพาราเซตามอลให้ลูก พอหยิบยาได้เธอก็กินมันเองซะเลย แล้วดื่มน้ำตามเสร็จเรียบร้อย…ท่าทางเธอจะอาการหนักกว่าผมเยอะแฮะ

 

ถามว่ามีอะไรป้องกันสมองเสื่อมได้จะจะเจ๋งๆ ไหม ตอบว่า หลักฐานเท่าที่วงการแพทย์พอมี มีดังนี้ครับ

 

1. การให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 12 และกรดโฟลิกในปริมาณพอเพียง

เพราะสารอาหารทั้งสองตัวนี้ เป็นปัจจัยควบคุมไม่ให้ระดับของกรดแอมิโน ซึ่งมีพิษต่อเซลล์ประสาทตัวหนึ่งชื่อโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) สูงเกินไป เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่า ถ้าโฮโมซีสเตอีนสูง ก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มาก

 

ผลงานวิจัยจากแคนาดาพบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับกรดโฟลิกจากอาหาร หรืออาหารเสริมอย่างพอเพียง มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับ งานวิจัยทำโดยสุ่มตัวอย่างให้ผู้สูงอายุกินกรดโฟลิกเสริมวันละ 800 ไมโครกรัม เทียบกับยาหลอกนานสามปี พบว่ากลุ่มที่กินกรดโพลิกเสริมมีความจำดีเทียบได้กับคนที่หนุ่ม – สาวกว่าตน 5.5 ปี

 

อีกผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ติดตามผลคนที่สมองเสื่อมสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้กินกรดโฟลิก วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 กับกลุ่มที่ให้ยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ให้วิตามินมีอัตราการหดตัวของเนื้อสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก สำหรับคนที่ไม่ชอบกินวิตามินเป็นเม็ด วิตามินบี 12 มีมากในอาหารหมัก ๆ เหม็น ๆ เช่น กะปิ น้ำปลา ปลาร้า พืชผัก และถั่วต่างๆ ซึ่งเมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อยเป็นวิตามินบี 12 ส่วนกรดโฟลิกก็มีมากในถั่วต่างๆ ผักต่างๆ เช่น คะน้า กะหล่ำ ผักโขม ผักกาด

 

 

และผลไม้ เช่น ส้ม สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ

 


2. การให้ร่างกายได้รับไขมันโอเมก้า – 3 มากพอ

ผลงานวิจัยจากชิคาโกซึ่งติดตามดูผู้สูงอายุเป็นเวลา 7 ปี พบว่า คนที่กินปลามาก หรือกินน้ำมันปลาเสริม มีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อมน้อยกว่า คนที่กินปลาน้อยแต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสมองเสื่อมไปแล้วน้ำมันปลาก็อาจจะช่วยไม่ได้ เพราะมีอีกงานวิจัยหนึ่งใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง คนที่เป็นอัลไซเมอร์แล้วแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินน้ำมันปลาเสริมเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งให้กินยาหลอก พบว่า อัตราความรุนแรงของสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการกินปลาหรือน้ำมันปลาจึงมีผลช่วยป้องกันมากกว่ารักษาสมองเสื่อม

 

 

 

3. การให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียง

สมองเสื่อม เกิดจากการอักเสบของเซลล์ เมื่อใดก็ตามที่มีการอักเสบ เมื่อนั้นจะเกิดอนุมูลอิสระหรือแอนติออกซิแดนต์ สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี และสารอื่น เช่น ซีสเตอีน กลูต้าไทโอน กรดไลโปอิก แอนโทไซยานิดิน โคเอนไซม์คิวเทน และเมลาโทนิน จึงอาจจะมีประโยชน์ในการป้องกันสมองเสื่อม เช่น งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ซึ่งทำการทดลองในคนสูงอายุ 4,740 คน พบว่า การให้กินวิตามินอี 1,000 ไมโครกรัม คู่กับวิตามินซี 1,000 ไมโครกรัม มีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อมน้อยลง สำหรับคนที่ไม่ชอบกินวิตามินเป็นเม็ดสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านนี้มีมากในผักและผลไม้ ถ้าอยากได้ต้องรับประทานผักผลไม้มากๆ อย่างน้อยวันละ 5 เสิร์ฟวิ่งขึ้นไป

 


4. ความเครียดทำให้สมองเสื่อมเร็ว

งานวิจัยในสัตว์พบว่าคอร์ติซอล (สเตียรอยด์) ที่เพิ่มขึ้นเพราะความเครียดไปทำให้เซลล์สมองเสื่อม การพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้ดีจึงเป็นวิธีป้องกันสมองเสื่อมวิธีหนึ่ง

 

 

 

5. การออกกำลังกายทำให้สมองเสื่อมช้าลงแน่นอน

เรื่องนี้มีงานวิจัยสนับสนุนเยอะมาก เช่น ผลงานวิจัยหนึ่งที่ทำการสุ่มตัวอย่างศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควรอย่างสม่ำเสมอนาน 1 ปี สมองส่วนฮิปโปแคมปัสจะโตขึ้นและความจำดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ ที่เพียงแค่ออกกำลังกายแบบยืดเส้นยืดสายที่ไม่ถึงระดับหนักพอควร

 

 

 

6. การฝึกสมองประลองเชาวน์ก็ช่วยได้

การศึกษาทางระบาดวิทยาทำให้เราทราบว่า คนที่เรียนหนังสือมาก หรือนานหลายปี จะเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าคนเรียนน้อย เด็กที่มีไอคิวสูง โตขึ้นจะเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าเด็กที่มีไอคิวต่ำ คนที่มีงานอดิเรกมาก โดยเฉพาะงานอดิเรกที่กระตุ้นการใช้ปัญญาจะเป็นสมองเสื่อมน้อยหลักฐานเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อว่า การลงทุนสร้าง “ปัญญาสำรอง” หรือ Cognitive Reserve ด้วยการฝึกสมองประลองเชาวน์บ่อย ๆ ทำให้เป็นสมองเสื่อมน้อยลง

 

 


7. งานวิจัยพบว่า คนขี้หลงขี้ลืมหรือเป็นอัลไซเมอร์มีสารเคมีซึ่งเป็นตัวรับส่งสัญญาณที่ปลายประสาทชื่ออะเซติลโคลีน (Acetylcholine) ต่ำกว่าปกติ

ยารักษาอัลไซเมอร์ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในปัจจุบันนี้จึงล้วนเป็นยาในกลุ่มต้านตัวทำลายอะเซติลโคลีน เพื่อหวังผลให้มีอะเซติลโคลีนใช้ในสมองมากขึ้น ปัจจุบัน FDA อนุมัติให้ใช้ยากลุ่มนี้แล้ว 4 ตัว คือ Tacrine (Cognex), Donepezil (Aricept), Rivastigmine (Exelon), and Galantamine (Razadyne) ซึ่งหมอมักให้คนเป็นสมองเสื่อมรับประทานกันเกือบทุกคน

 

ทั้ง 7 ประเด็นคือหลักฐานเท่าที่วงการแพทย์มีว่าอะไรจะช่วยป้องกันหรือทำให้สมองเสื่อมช้าลงได้บ้าง ซึ่งคุณสามารถเลือกไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

 

จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 468

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate