เคยสงสัยไหมคะ ว่า ค่าไต เขาดูกันตรงไหน ?
จะรู้ได้ยังไง ว่าตอนนี้เราเสี่ยงเป็นโรคไตหรือเปล่า ?
หรือถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรคไตแล้ว เราอยู่ระยะไหนกันแน่ ?
บทความนี้ มีคำตอบค่ะ !
แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์กับคุณ หรือกับเพื่อน ๆ ของคุณ ช่วยแชร์กันไปได้เลยนะคะ อายจะขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ
ถ้าพูดถึงค่าไต หลาย ๆ คนอาจจะดูเพียงแค่ Creatinine กับ BUN เท่านั้น
แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าพูดถึงการแบ่งระยะของโรคไต หรือการวินิจฉัยของแพทย์ เขาจะดูกันที่ค่า GFR หรือ Glomerular filtration rate ซึ่งเป็นค่าที่แสดงอัตราการกรองของเสียของไตเราค่ะ
ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ ไตเราก็เหมือนกับเครื่องกรองน้ำ ที่ทำหน้าที่กรองน้ำที่ไหลผ่านให้สะอาด แล้วปล่อยออกจากร่างกายเป็นปัสสาวะ และทำการดูดซึมสารอาหารที่ประโยชน์กลับเข้ามาร่างกายด้วย
คนที่ตรวจเลือดแล้วมีค่า GFR ต่ำ หรือไตเสื่อม ก็หมายความว่า แผ่นกรองเริ่มจะทำงานหนักแล้ว กว่าจะกรองได้ใช้เวลานานมาก และกรองได้ปริมาณไม่เยอะเหมือนแต่ก่อนด้วย เลยเป็นสาเหตุให้ไตวาย เป็นสภาวะที่ไตกรองของเสียแทบไม่ได้แล้วนั่นเอง
แล้วทำไมค่า GFR ถึงสำคัญ ?
เนื่องจากโรคไต ถ้าไม่ได้เป็นหนัก ๆ ก็มักจะไม่แสดงอาการออกมา จึงมีปัญหาตรงที่ว่า เรามักไม่ค่อยรู้ตัว ว่าตอนนี้เราเป็นโรคไต หรือเปล่า ส่วนใหญ่ที่ตรวจเจอ ก็มักจะพบว่าเป็นระยะที่ 3, 4, 5 กันแล้ว เพราะว่าอาการเริ่มจะออกชัด ซึ่งทำให้บางคนถึงกับทำใจลำบากเลยล่ะค่ะ อย่างบางคนที่ตรวจค่าไตปุ๊ป พบว่าเป็นระยะที่ 5 ต้องเตรียมฟอกไตทันที ..เจอแบบนี้เป็นใครก็ช็อคนะคะ
อายก็เลยอยากจะบอกว่า ไม่ว่าตอนนี้คุณจะอายุเท่าไหร่ ก็ควรจะตรวจค่าไตเอาไว้ด้วยนะคะ เราจะได้รู้ตัวเนิ่น ๆ ว่าไตเรายังดีอยู่ไหม
ต้องดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นหรือเปล่า โดยเฉพาะคนที่อายุ 50-60 ปี ควรตรวจอย่างยิ่งเลยค่ะ !! (ถ้าให้ดีที่สุด อายุ 30+ เริ่มตรวจได้ยิ่งดี) เพราะยิ่งเราตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเวลาชะลอไตเสื่อมได้นานขึ้น และกรณีถ้าพบว่าเป็นโรคไต ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่หาย ไม่ดีขึ้น หรือต้องฟอกไตเสมอไป เพราะยิ่งเจอเร็ว ปรับตัวได้เร็ว ก็มีโอกาสในการรักษาได้ดีกว่านั่นเอง
โรคไต จะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ
ระยะที่ 1 GFR มากกว่าหรือเท่ากับ 90
ค่าไตยังสูง เรียกได้ว่าแทบจะปกติเลยค่ะ สำหรับระยะแรกนี้ แนะนำว่าควรตรวจเช็คโรคร่วมอื่น ๆ ด้วย เช่น ความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน เพื่อจะได้นำมาเป็นปัจจัยในการช่วยชะลอไตเสื่อมในอนาคตได้
สิ่งที่ต้องดูเป็นพิเศษ : ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ เพราะไตชอบน้ำสะอาด ชอบอะไรที่กรองง่าย ๆ ไม่ต้องทำงานหนัก ส่วนอาหารก็จะเน้นรสแบบไม่จัดมาก
เป้าหมาย : เริ่มชะลอไตเสื่อม
ระยะที่ 2 GFR อยู่ที่ 60-89
ไตผิดปกติเล็กน้อย แต่สามารถดูแลตัวเอง จนกลับไประยะ 1 หรือยังสามารถกลับไปปกติได้ ขึ้นกับสาเหตุที่เป็น และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผล อย่าง อาหาร โรคร่วม ยา ความดัน ของแต่คนนะคะ
สิ่งที่ต้องดูเป็นพิเศษ : ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ เน้นรสไม่จัด และทานโปรตีนให้น้อยลงนิดหน่อย เพราะโปรตีนเป็นตัววัดของเสียตัวหนึ่งด้วยค่ะ
เป้าหมาย : เริ่มชะลอไตเสื่อม
ระยะที่ 3 GFR 30-59
**ระยะนี้ จริง ๆ แล้วในทางการแพทย์จะแบ่งย่อยออกเป็น ระยะ3a (45-59) และระยะ 3b (30-44) แต่ไม่ว่าจะแบบไหน ระยะนี้ก็ถือว่า เป็นโรคไตเรื้อรังโดยสมบูรณ์แบบแล้ว หรือเรียกว่า เป็นระยะก่อนฟอกไต นั่นเองค่ะ
ระยะนี้ค่าไตลดลงมากแล้ว จึงเริ่มมีความผิดปกติเกิดร่วมหลายอย่าง เช่น เริ่มโลหิตจาง (ซีด) ความดันสูง แคลเซียมในเลือดต่ำ ฟอสเฟตในเลือดสูง โพแทสเซียมในเลือดสูง หรือภาวะเลือดเป็นกรด เป็นต้น
สิ่งที่ต้องดูเป็นพิเศษ : ทานโปรตีนให้น้อยลง และถ้าทานก็ควรทานโปรตีนที่ย่อยง่าย ๆ อย่างไข่ขาว-เนื้อปลาสีขาว ของเสียจะได้ไม่สูงมาก รวมถึงเริ่มควบคุมโซเดียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นแล้วนั่นเอง
เป้าหมาย : ชะลอไตเสื่อม แบบจริงจัง
ระยะที่ 4 GFR 15-29
ระยะนี้ ก็ถือเป็นระยะก่อนฟอกไตเช่นกันแต่ไตจะเสื่อม มากกว่า ระยะที่ 3
สิ่งที่ต้องดูเป็นพิเศษ : เน้นทางโปรตีนให้น้อย ๆ และเน้นทานโปรตีนคุณภาพดี อย่างไข่ขาว-เนื้อปลาสีขาว คุมโซเดียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และที่สำคัญระยะนี้ต้องคอยสังเกตเรื่องอาการบวมเป็นพิเศษด้วยค่ะ
เป้าหมาย : ชะลอไตเสื่อม แบบคร่งครัด และป้องกันโรคร่วม อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ
ระยะที่ 5 GFR ต่ำกว่า 15
ระยะนี้คือไตเสียไปเยอะมากแล้ว จำเป็นต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไต อย่าง การล้างไตหน้าท้อง การฟอกไตผ่านเครื่อง หรือ การปลูกถ่ายไตแล้วค่ะ
สิ่งที่ต้องดูเป็นพิเศษ : คนที่ล้างไต หรือฟอกไต ควรทานโปรตีนให้เยอะไว้ค่ะ เพราะเวลาฟอกร่างกายจะถูกดึงโปรตีนออกไป (รวมถึงแร่ธาตุหลาย ๆ ตัวด้วย) ทำให้เรามักจะอ่อนเพลีย หมดแรง หรือโหยเวลาหลังฟอก และเนื่องจากถูกดีงโปรตีนออกไปทุกครั้ง ถ้าเรากินน้อยเกินไป กล้ามเนื้อก็จะถูกสลายไปเรื่อย ๆ ทำให้ยิ่งผอมลง ยิ่งอ่อนแอลงด้วยค่ะ รวมถึงยังต้องคุมโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และน้ำ (เป็นระยะเดียวที่จำกัดการกินน้ำ ประมาณ 7 ลิตรต่อวัน) แบบเคร่งครัดกว่าระยะอื่น ๆ ค่ะ
เป้าหมาย : ป้องกันโรคแทรกซ้อน โรคร่วมต่าง ๆ และรักษาชีวิตให้อยู่ได้ยืนยาว
ตอนนี้เราก็รู้แล้วใช่ไหมคะว่า โรคไตมี 5 ระยะ และการดูแลตัวเองแต่ละระยะก็แตกต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่าตอนนี้เราอยู่ระยะไหนและต้องดูแลตัวเองยังไง อายเชื่อว่า เราก็พร้อมที่จะมีชีวิตที่มีความสุขได้ ส่วนใครที่ยังไม่เคยตรวจค่าไต และมีอายุ 30+
อายแนะนำว่า ลองหาเวลาไปตรวจดูด้วยก็จะดีมาก ๆ เลยค่ะ ^^ อ่านจบแล้ว อย่าลืมแชร์บทความนี้ ให้คนที่คุณรักกันด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ Manual of Dialysis
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณรูปภาพจาก kidneymeal
ขอขอบคุณข้อมูลจาก kidneymeal