โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานคือ ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดมากผิดปกติ โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 มิลลิกรัม / เดซิลิตร (วัดจากหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง)
คนส่วนใหญ่คิดว่าน้ำตาลในเลือดมาจากการกินขนมหวาน ชอบกินอาหารใส่น้ำตาลทรายเยอะๆ แต่ที่จริงแล้วน้ำตาลในเลือดที่เกิดขึ้นมาจากอาหารเกือบทุกชนิดที่กิน รวมถึงอาหารที่ไม่หวานด้วยอย่างข้าวหรือขนมปังด้วย เพราะสุดท้ายร่างกายของเราจะย่อยอาหารเหล่านั้นให้เป็นโมเลกุลเล็กๆ และเปลี่ยน “น้ำตาลกลูโคส” เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงาน
พูดง่ายๆ ก็คือ น้ำตาลในเลือด ก็คือน้ำตาลกลูโคส โดยมี “อินซูลิน” หรือฮอร์โมนอินซูลินซึ่งผลิตจากตับอ่อนที่ช่วยขนส่งเหล่าน้ำตาลกลูโคสไปยังเซลล์ต่างๆ ดังนั้น ถ้าร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเหมาะสม ไม่มีตัวช่วยขนกลูโคสไปใช้งาน ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสะสม แล้วค่อยๆ สูงขึ้น จนเมื่อน้ำตาลในเลือดเกินกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โรคเบาหวานก็จะมาเคาะประตูหน้าบ้านแล้ว!
เช็คอาการด่วน!
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมากกว่า 8 ชั่วโมง มีค่ามากกว่า 126 มิลลิกรัม / เดซิลิตรขึ้นไป
ระดับน้ำตาลในเลือดเวลาไม่ได้อดอาหาร มีค่ามากกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตรขึ้นไป
อ้วนแต่น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
ปัสสาวะมากและบ่อย
คอแห้ง หิวน้ำบ่อย และอยากอาหารเพิ่มขึ้น
สายตาพร่ามัว
เป็นแผลเรื้อรังหายช้า
มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ปาก
ปวดและชาตามมือและเท้า
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ชนิด
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 : ร่างกายไม่สร้างอินซูลิน เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายไปทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน มักพบเบาหวานชนิดนี้ได้ตั้งแต่วัยเด็ก
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 : เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์
โรคเบาหวานชนิดที่ 3 : พฤติกรรมเสี่ยงทำตับอ่อนพัง
โรคเบาหวานอยู่ในกลุ่มโรค NCDs (Non-communicable Diseases) หมายถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ติดต่อกันไม่ได้ แต่สาเหตุโรคเบาหวานเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อร่างกาย ส่วนใหญ่คือพฤติกรรมเสี่ยง เช่น กินอาหารรสจัด ปล่อยให้ร่างกายอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด เครียดจัด เป็นต้น
รับมือเบาหวานด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เบาๆ
ปัจจุบันเบาหวานถูกจัดเป็นโรคระบาดเนื่องจากมีผู้เป็นเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกทวีปทั่วโลกโดยในช่วงไม่ถึง20 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และเมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว หากควบคุมไม่ได้ ก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกมากเช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ปลายประสาทเสื่อม จอตาเสื่อม ไตเสื่อม จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
แต่ถ้าหากเรารับมือโรคเบาหวานได้อย่างเหมาะสม โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปพร้อมๆ กับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างยืนยาว ปลอดภัยและมีความสุขในชีวิต
เบาใจได้ ไม่ต้องเครียด
ข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตที่ทำไปด้วยความเครียดมักได้ผลไม่นาน สุดท้ายในระยะยาวก็มักล้มเหลว ดังนั้นต้องคอยหมั่นสำรวจจิตใจตนเองอยู่ตลอด หาแรงกระตุ้นเพื่อผลักดันให้เปลี่ยนตนเองไปเป็นคนที่มีชีวิตที่ดีขึ้น การทำจิตใจให้แจ่มใส่เบิกบานอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถปรับไลฟ์สไตล์ได้อย่างยั่งยืน
ให้ร่างกายได้ขยับ
การออกกำลังกายเป็นวิธีรับมือโรคเบาหวานได้ดี แต่เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนอาจไม่มีเวลาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันเราปรับคำแนะนำจากเดิมให้ออกกำลังกายมาเป็นเพิ่มกิจกรรมทางร่างกายในชีวิตประจำวันแทน เช่น ขึ้น-ลงบันไดแทนลิฟต์ ลุกเดินบ่อยๆ ก็พบว่าได้ผลดีเช่นกัน เนื่องจากความสะดวกสบายในโลกยุคปัจจุบันทำให้มนุษย์ขยับร่างกายน้อยลงอย่างมากจึงมีการบัญญัติคำเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle)
สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่าอยู่นิ่งกับที่นานเกิน 30 นาที ต้องมีการลุกเปลี่ยนอิริยาบถหรือเดินในระยะสั้นๆ ซึ่งการทำเช่นนี้นอกจากลดเบาหวานแล้วยังลดโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกหลายโรค เช่น โรคปวดคอ บ่า ไหล่ โรคกระดูกพรุน โรคเวียนศีรษะ เป็นต้น
ลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ตั้งเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 7 ของน้ำหนักตัวตั้งต้น โดยอาจวางแผนให้ลดลงครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ การควบคุมอาหารโดยจำกัดปริมาณอาหารหรือแคลอรีร่วมกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นวิธีที่ได้ผลดี นอกจากนั้นในรายที่น้ำหนักเกินมากหรือมีโรคร่วมอาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารซึ่งสามารถลดน้ำหนักและลดน้ำตาลได้เช่นกัน
คุมอาหารแบบไม่ต้องอด
เหตุผลที่คนเป็นเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมอาหารก็เพื่อช่วยให้สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติ ช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ได้แก่ มือเท้าชา เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง ต้อกระจกที่ตา ไตวาย อัมพาต
แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดและคิดว่าการรับประทานอาหารเพียง 1 หรือ 2 มื้อจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ อันที่จริงแล้วข้อปฏิบัติที่ถูกต้องคือ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อหลัก คือ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และควรรับประทานอาหารเมื่อถึงเวลา “ไม่ใช่เมื่อหิว” เพราะถ้ารับประทานอาหารเมื่อหิวจะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมากเกินพอดีและเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ สำหรับผู้ป่วยโรคเหวานบางรายที่ฉีดอินซูลินหรือมีประวัติน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ อาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารมากกว่า 3 มื้อโดยอาจแบ่งมื้ออาหารออกเป็น 4-6 มื้อ โดยอาจดื่มนมพร่องมันเนย 1 กล่อง รับประทานผลไม้ 1 ผล หรืออาหารทดแทนครึ่งแก้วระหว่างอาหารมื้อหลักในแต่ละมื้อก็ได้
กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
อาหารของคนผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นไม่ได้แตกต่างจากอาหารของคนทั่วไป เพียงแต่ต้องใส่ใจและระมัดระวังในการเลือกกินอาหารต่อไปนี้
จำกัดปริมาณข้าว แป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน กินไม่เกินมื้อละ 2 ทัพพี หรือขนมปังมื้อละไม่เกิน 2 แผ่น รวมทั้งน้ำตาลไม่ให้เกินวันละ 6-8 ช้อนชา
จำกัดผักประเภทหัว เช่น มันเทศ ฟักทอง ข้าวโพด แคร์รอต ซึ่งมีแป้งเยอะ แต่มีประโยชน์ ควรกินทดแทนข้าวหรือกินแทนมื้อว่าง แต่จำกัดครั้งละ 2 ชิ้น หนึ่งชิ้นขนาดประมาณนิ้วชี้กับนิ้วกลางประกบกันเท่านั้น
แนะนำให้เลือกกินใบและก้านผักหลายชนิดในแต่ละวัน ง่ายๆ แค่นี้ก็คุมเบาหวานได้แล้ว และอย่าลืมออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เช่น เดิน เดินขึ้นบันได วิ่งเหยาะๆ ทำงานบ้าน เป็นต้น สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาทีต่อเนื่องจะช่วยให้ฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องอดอาหาร เพียงแต่ต้องรู้จักเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็สามารถมีชีวิตได้อย่างปกติ สิ่งสำคัญในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้แก่ ต้องกินอาหารให้ครบ 3 มื้อโดยมื้อเช้าสำคัญที่สุดเพราะเป็นมื้อที่กำหนดการเผาผลาญของร่างกายในแต่ละวัน ส่วนอาหารที่ควรเลือกกินก็เน้นเพิ่มใยอาหาร เช่น ผัก ลดแป้งทั้งจากข้าว ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังต่างๆ ลดผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ลดหวาน มัน เค็ม และไม่ดื่มน้ำที่มีรสหวานในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีอาหารทางการแพทย์สำหรับโรคต่างๆ รวมทั้งโรคเบาหวานซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมไปกับการปรับไลฟ์สไตล์และการใช้ยารักษาโรคได้อย่างได้ผล
นพ.เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ศูนย์เบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวถึงอาหารทางการแพทย์ในโรคเบาหวานว่า สามารถใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ โดยวิธีหนึ่งที่มีการศึกษาว่าได้ผลในการควบคุมน้ำหนักและน้ำตาลคือการใช้ในรูปแบบเพื่อทดแทนมื้ออาหาร (meal replacement therapy) ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถวางแผนร่วมกับแพทย์หรือทีมงานผู้ดูแลในการเลือกมื้ออาหารในบางมื้อของวันจำนวน 1-2 มื้อที่จะให้รับประทานอาหารทางการแพทย์ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อได้ง่ายขึ้น
โดยสิ่งสำคัญในการใช้อาหารทางการแพทย์อย่างได้ผล คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนในการกำหนดมื้อที่จะใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อทดแทนอาหาร ซึ่งโดยทั่วไปอาจเริ่มจากวันละมื้อก่อน เช่น มื้อเช้า มื้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพราะต้องรีบไปเรียนหรือไปทำงาน หรือเลือกมื้อเย็นซึ่งมักเป็นมื้อที่กินดึกหรือกินนอกบ้านทำให้ควบคุมปริมาณการกินได้ยาก
หลังจากมีการวางแผนการทดแทนมื้ออาหารแล้วก็ต้องมีการประเมินเป็นระยะว่าผู้ป่วยสามารถกินอาหารทดแทนได้ตามที่กำหนดหรือไม่ การให้คำแนะนำการจัดการตนเองเมื่อหิว การให้กำลังใจและเสริมแรงบวก การสนับสนุนจากทีมงานผู้ดูแลและคนรอบข้าง การจัดการความเครียดและการปรับเปลี่ยนแผนอย่างเหมาะสมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อทดแทนมื้ออาหารสามารถใช้อย่างได้ผล เมื่อรู้เท่าทันเบาหวานเช่นนี้แล้วย่อมสามารถเข้าใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่
ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสืออยู่อย่างไรให้ไกลเบาหวาน สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate