6 ชาติ 6 ศาสตร์ สยบเบาหวาน

6 ชาติ 6 ศาสตร์ สยบเบาหวาน

สยบเบาหวาน …เพราะโลกกว้างและมีข้อมูลมากมาย เราจึงต้องตามให้ทัน ยิ่งเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บด้วยแล้ว 

แต่ละเมืองแต่ละประเทศต่างก็มีวิธีในการสยบโรคที่ไม่เหมือนกัน เบาหวานเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีสถิติผู้ป่วยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นทุกปี ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกไม่ยอมยกธงขาวให้ความเจ็บป่วยนี้เช่นกัน

ชีวจิต จึงขอเป็นตัวช่วยสำหรับใครที่กำลังเผชิญกับโรคเบาหวาน ด้วยการนำเสนอ 6 ชาติ 6 ศาสตร์ สยบเบาหวาน เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการดูแลสุขภาพของคุณค่ะ

 

ทำความรู้จัก “เบาหวาน”
เบาหวาน (Diabetes Mellitus หรือ Diabetes) หรือเรียกย่อๆ ว่า โรคดีเอ็ม (DM) เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดชีวิต เกิดจากการที่ในเลือดมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ (มากกว่า 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

พบได้ในคนทุกวัยและทั้งสองเพศแต่จะพบมากขึ้นเมื่อสูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น จึงพบโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 552 ล้านคน

 

 

1. สหรัฐอเมริกา

 

 


“เดิน” หลังมื้ออาหาร ลดเสี่ยงเบาหวานชนิด 2

 

 

ในปัจจุบัน ชาวอเมริกันเกือบ 26 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน และอีกราว 79 ล้านคนกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งล่าสุดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มแผนผลักดันให้มีการเดินหลังกินอาหาร เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ลอเรตตา ดิเปียโทร (Loretta Dipietro) หัวหน้างานวิจัยโรคเบาหวาน และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวถึงการค้นพบที่จะช่วยชาวมะกันในครั้งนี้ว่า

“การเดินย่อยหลังกินข้าวเป็นเวลา 15 นาที มีส่วนช่วยยับยั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด”

ทั้งนี้ทีมงานของศาสตราจารย์ดิเปียโทรทำการวิจัยจากอาสาสมัครที่เป็นโรคอ้วนอายุเฉลี่ย 71 ปี จำนวน 10 คน ทุกคนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิด 2 หรือชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลินที่สามารถพบได้มากสุด

อาสาสมัครแต่ละคนต้องอยู่ในห้องเมแทบอลิซึม ซึ่งเป็นห้องพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทีมวิจัยได้ติดตามระดับแคลอรีที่ถูกเผาผลาญไป เป็นระยะเวลา 3 วัน
วันแรกของการวิจัยเรียกว่าวันควบคุม อาสาสมัครไม่ต้องทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องใช้ร่างกาย แต่วันที่สองพวกเขาต้องเดินบนลู่วิ่ง ด้วยระดับความเร็วปกติ 15 – 30 นาที หลังกินอาหารในแต่ละมื้อ

วันที่สาม อาสาสมัครต้องเดินเป็นเวลา 45 นาที ช่วง 10.30 น.หรือ 16.30 น. โดยที่อาสาสมัครทุกคนจะได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตลอดช่วงทำกิจกรรมทั้งสามวันอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ดิเปียโทรเผยว่า งานวิจัยที่เธอและทีมงานได้ทำนี้ แสดงให้เห็นว่า การกำหนดเวลาสำหรับการเดินออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้น เพราะการเดินเกี่ยวข้องกับการขยับของกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
เดินอย่างไร
หลังกินอาหารเสร็จ ให้รอประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นค่อยเดินด้วยความเร็วปกติราว 15 นาที คุณจะเห็นได้ว่า การเดินย่อยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง และถ้าต้องการให้ได้ผลดีไปตลอด ควรทำให้เป็นกิจวัตร ซึ่งการเดินย่อยนี้ไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักหรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อแต่อย่างใด หากเป็นเพียงวิธีช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ผลการวิจัยของศาสตราจารย์ดิเปียโทรแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการเดินหลังมื้ออาหารวันละ 45 นาที ซึ่งถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิด 2 ควรเดินสักนิดช่วงหลังกินข้าว โดยเฉพาะ

อย่างยิ่งในมื้อเย็น เพราะวิธีนี้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้นานถึง 3 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น

นอกจากงานวิจัยเรื่องนี้จะได้รับการผลักดันให้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประเทศอิตาลีก็มีวัฒนธรรมการเดินหลังกินข้าวที่เรียกว่า พาสเซอเจียตา (Passeggiata) ซึ่งช่วยย่อยอาหารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

2. มาเลเซีย

 

 

5 สมุนไพรรักษาเบาหวาน

งานวิจัยจากคณะเภสัชและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยแพทย์เปรัค มหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียสำรวจพบสมุนไพรที่หมอพื้นบ้านนิยมใช้เพื่อรักษาเบาหวาน ซึ่งมีประสิทธิภาพแถมยังราคาถูก ขณะเดียวกันผลข้างเคียงก็น้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน ดังนี้

 

ฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata)


หรือที่ชาวมลายูเรียกว่า เฮมเปดุ บูมิ (Hempedu Bumi) เป็นไม้ล้มลุกที่มีสรรพคุณคือ แก้อาการติดเชื้อเมื่อนำรากและใบมาศึกษาพบว่า สารสกัดฟ้าทลายโจรมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญกลูโคส จึงมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับวิธีใช้ก็ไม่ยาก เพียงนำใบฟ้าทลายโจร 4 – 5 ใบไปตากให้แห้ง จากนั้นนำมาใส่น้ำร้อนทำเป็นชาดื่มได้ตลอดทั้งวัน

 

ลูกใต้ใบ (Phyllanthus niruri) 


หรือดุกัง อานัก (Dukung Anak) พืชล้มลุกขนาดเล็กชนิดนี้พบได้ทั่วไป ข้อมูลในรายงานระบุว่า เพียงออกเดินสำรวจรอบๆ บ้านก็จะพบต้นลูกใต้ใบขึ้นอยู่ มีสรรพคุณ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ เพราะสารสกัดของลูกใต้ใบมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด 

นอกจากนี้ยังช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการบวม แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะได้อย่างดี คนโบราณมักใช้ต้นลูกใต้ใบตากแห้งมาชงเป็นชาดื่ม แต่ด้วยเหตุที่มีรสขมจึงนิยมนำมาทำเป็นแคปซูลเพื่อให้กินได้สะดวกขึ้น

 

แป๊ะตำปึง (Gynura procumbens) 


หรือแซมบังนยาวา (Sambung Nyawa) เป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดแป๊ะตำปึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อดูดซึมน้ำตาลได้อย่างรวดเร็วภายใน 14 วัน นอกจากนี้ยังช่วยลดความดันโลหิต แต่ยังไม่สามารถลดระดับอินซูลินได้

 

ในประเทศไทย ชาวเหนือนิยมนำใบสดมากินกับลาบ เรียกว่านกอบหรือใบเบก ไทรไข่มุก (Ficus deltoidea) หรือมะจอเต๊ะ (Mas Cotek) แต่ดั้งเดิมหมอพื้นบ้านมาเลเซียใช้รักษาอาการสตรีตกเลือดหลังคลอด ช่วยให้ระบบเลือดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น ต่อมามีการศึกษาพบว่า สารสกัดจากใบช่วยลดทั้งระดับน้ำตาลในเลือดคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตได้ จึงมีผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน ขณะที่ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ายังมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงอีกด้วย

 

ปัจจุบันสมุนไพรชนิดนี้จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการผลิตเป็นชาชงสมุนไพร พบเห็นได้ทั่วไปในมาเลเซีย

 

ดาวกระจาย (Cosmos caudatus) 

 


หรือ อุลาม รายา (Ulam Raja) ชื่อในภาษามาเลเซียนั้นแปลว่า ราชาแห่งสลัด แม้ดาวกระจายเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปละตินอเมริกา แต่ชาวมาเลเซียนิยมใช้ใบสดมาปรุงเป็นสลัด ส่วนในตำรับยาพื้นบ้านมาเลเซียระบุว่า ดาวกระจายมีสรรพคุณในการต้านมะเร็ง รักษาเบาหวาน นิ่ว และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะจากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า สารสกัดจากใบช่วยลดการดูดซึมกลูโคสในลำไส้เล็กได้ จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผลช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย

 

3. ประเทศไทย

 

 

เดินโก๊ะก๊ะ พิชิตเท้าเบาหวาน

โก๊ะก๊ะ คือ การนวดเท้าด้วยการเหยียบกะลา ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เป็นการดูแลสุขภาพเท้า ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่เท้าดีขึ้น และลดอาการปวดบวม ชาที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานรวมทั้งป้องกันการเกิดแผลเรื้อรังที่จะนำไปสู่การตัดขา

สำหรับความเป็นมาของโก๊ะก๊ะนี้ พ่อคำอ้าย ชูดวง ประธานชมรมหมอเมืองตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เมื่อ 100 กว่าปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีแพทย์แผนปัจจุบันในหมู่บ้าน เมื่อเกิดอาการปวดชาขาและเท้าขึ้น คนรุ่นปู่ย่าตายายได้ประยุกต์ โดยนำวัสดุพื้นบ้านอย่างกะลามะพร้าวแก่ผ่าครึ่งขัดให้เรียบ มาคว่ำวางห่างกันพอก้าว แล้วใช้เท้าเดินเหยียบลงบนกะลาที่คว่ำต่อ ๆ กันไป สามารถลดอาการปวดและชาเท้าได้เป็นอย่างดี จากการทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เกิดการบอกต่อกันปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน

โดยคลินิกเบาหวาน - ความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเสียว จังหวัดศรีสะเกษ แนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินกะลาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานไว้ทั้งหมด 5 ท่า โดยแต่ละท่าใช้เวลาฝึก 3 นาทีผู้ป่วยเบาหวานควรนวดเท้าด้วยการเหยียบกะลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลา 1 เดือน

 

ท่าที่ 1 ข้อแกร่ง 
ยืนหลังตรง เท้าสองข้างเหยียบลงบนกะลาข้างละใบ เลื่อนส้นเท้าทั้งสองลงมาที่พื้นราบโดยให้อุ้งเท้าและปลายเท้าแนบกับกะลา เกร็งเท้ากดลง นับ 1 - 5 ทำซ้ำจนครบ 3 นาที

 

ท่าที่ 2 ขาแข็ง 
เขย่งปลายเท้าบนกะลา เกร็งเท้ากดลง นับ 1 - 5 กลับมาในท่าพักโดยให้อุ้งเท้าและปลายเท้าแนบกับกะลา ทำซ้ำจนครบ 3 นาที

 

ท่าที่ 3 ผ่อนคลาย 
ย่ำฝ่าเท้าลงบนกะลาให้ครบจุดตรวจเท้าทั้งสองข้าง เมื่อย่ำลงที่จุดไหนแล้วรู้สึกเจ็บ ให้กดแช่ไว้เท่าที่จะทนได้ทำซ้ำจนครบ 3 นาที

 

ท่าที่ 4 สบายขา 
วางเท้าซ้ายลงบนกะลา ใช้ส้นเท้าขวานวดหลังเท้าซ้าย นับ 1 - 5 สลับข้าง นับ 1 - 5 จนครบ 3 นาที

 

ท่าที่ 5 กะลาไชโย
วางกะลา 3 คู่ลงบนพื้นให้ห่างกันพอสมควร นั่งลงบนกะลาคู่แรกโดยให้ก้นกบอยู่บนส่วนยอดของกะลา โคนขาอยู่บนกะลาคู่ที่ 2 ส่วนข้อพับเข่าอยู่ตรงกลางกะลาคู่ที่ 3 จากนั้นไขว้ขาข้างหนึ่งมาทับต้นขาอีกข้างที่เหยียดตรง แล้วใช้มือทั้งสองข้างนวดตามเท้า น่อง และขา ประมาณ 1 นาที สลับข้าง ทำซ้ำจนครบ 3 นาที

 

 

4. จีน

 


ฝังเข็มปรับสมดุลร่างกาย

 

 

แพทย์แผนจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบหมื่นปี โดยตำราแพทย์เริ่มระบุถึงอาการของโรคเบาหวานไว้เมื่อ 650 ปีที่ผ่านมา ในคัมภีร์แพทย์จีนโบราณ “ตัน ชี ซิน ฝ่า เซียว ขื่อ เจิ้ง” ระบุถึงเบาหวานว่า หมายถึงการมีความร้อนสะสมภายในร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายแห้งและเกิดไฟ สารเหลวในร่างกายถูกเผาผลาญ เราดื่มน้ำทดแทนเท่าไรก็ไม่สามารถดับกระหายได้

แพทย์จีนรุ่นเก่าเข้าใจดีถึงอวัยวะภายในที่ร้อนจัด ทำให้กระหายน้ำ อวัยวะภายในร้อนและแห้งมาก สารเหลวในร่างกายไม่พอ ทำให้เกิดร้อนใน จึงมีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย เรียกว่า “เซียว ขื่อ เจิ้ง”

แพทย์จีนธนภัทร จินตกุล หัวหน้าสถานพยาบาลแพทย์แผนจีนวิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม อธิบายเพิ่มเติมว่า ศาสตร์การฝังเข็มของจีนเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ สามารถช่วยผู้ป่วยเบาหวานได้มากทีเดียว

การฝังเข็มช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ ทั้งนี้เพราะการฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลในร่างกาย โดยเฉพาะระบบการทำงานของตับ ม้าม และไต

นอกจากนี้การฝังเข็มยังสามารถใช้รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย เช่น รักษาอาการโรคเหน็บชาตามปลายมือปลายเท้าเนื่องจากปลายประสาทเสื่อม ตามัว เป็นต้น

 

การฝังเข็มในไทย

2,000 ปีก่อนยุคราชวงศ์ฮั่นมีการบันทึกตำราแพทย์เกี่ยวกับการฝังเข็มและมีการพัฒนาเข็มที่ทำด้วยเงินและทอง และการฝังเข็มถือเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานที่สุด โดยคาดว่า การฝังเข็มนั้นได้เข้ามาในเมืองไทยเมื่อมีการติดต่อกับจีนในสมัยพ่อขุนรามคำแหงประมาณ 700 ปีก่อน

 

 

5. อินเดีย

 

 

โยคะง่ายๆ ต้านเบาหวาน

ประเทศอินเดียเป็นต้นทางหรือถิ่นกำเนิดศาสตร์เก่าแก่อย่างโยคะ และอาจกล่าวได้ว่า คุณูปการหนึ่งที่สังคมอินเดีย ได้สร้างสรรค์ให้โลกคือการให้กำเนิดปรัชญาโยคะเพื่อการหลุดพ้นและจิตใจที่สงบสุข พ้นจากความทุกข์

คุณซู - มาริสา จันทรัช ครูสอนโยคะผู้เชี่ยวชาญ อธิบายว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าการฝึกโยคะเป็นเพียงการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วโยคะสามารถป้องกันและรักษาโรคได้อีกมากมาย รวมถึงเบาหวาน

ทั้งนี้การฝึกโยคะใช้หลักการยืดและคลายกล้ามเนื้อแต่ต้นจนจบพร้อมกับการกําหนดลมหายใจเข้า – ออกที่สัมพันธ์กันโดยอาศัยเทคนิคหลายๆ อย่าง

การฝึกอาสนะของโยคะเป็นการบริหารกายแบบแอโรบิกชนิดหนึ่งที่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อช้าๆ ในขณะที่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ไกลโคเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อจะสลายเป็นพลังงาน และเมื่อทําต่อไปเรื่อยๆ จะมีการใช้กลูโคสและไขมันในกระแสเลือดแทน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและเพิ่มประสิทธิภาพของเนื้อเยื่อในการตอบสนองต่ออินซูลิน ทําให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อร่างกายผ่อนคลายจากการทําสมาธิ ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกก็ทํางานดีขึ้น ทําให้เกิดคลื่นแอลฟ่าในสมองและระดับสารคอร์ติซอลลดลง มีผลทําให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตาม

ทั้งนี้ การฝึกโยคะสําหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่มีผลต่ออวัยวะภายในช่องท้องและต่อมไร้ท่อที่สําคัญ เช่น ตับอ่อน อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารที่ส่งผลให้เกิดความสมดุลในร่างกายซึ่งผู้ป่วยต้องฝึกเป็นประจำ จะทำให้โรคเบาหวานและร่างกายโดยรวมดีขึ้น

 

ท่างู ช่วยอินซูลินหลั่ง


ท่าโยคะที่ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรพลาดคือท่างู ที่มีส่วนช่วยให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินได้ตามปกติ จึงส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้

 

ท่าเตรียม

นอนคว่ำราบกับพื้น แยกเท้าออกจากกันเล็กน้อย ให้คางแตะพื้นก้มศีรษะลง วางมือไว้ที่ระดับไหล่

 

ท่าปฏิบัติ 

หายใจเข้าช้า ๆ ยกช่วงอกและลำตัวขึ้น ใช้มือพยุงน้ำหนักตัว แอ่นหน้าอกให้มากที่สุด พร้อมกับเอนศีรษะไปด้านหลัง แหงนหน้าจนคอตึง ค้างไว้นับ 1 – 8 กลับสู่ท่าเตรียม

 

 

6. เวียดนาม

 


มหัศจรรย์…อาร์ติโช้ก คุมน้ำตาลในเลือด

อาร์ติโช้ก มีชื่อสามัญเรียกหลายภาษา เช่น ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Globe artichoke เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูล Asteraceae สกุล Cynara ชนิด Scolymus ได้รับการค้นพบมานานกว่า 3,000 ปี เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคของชาวอียิปต์ ชาวกรีก และชาวโรมันโบราณ
ลำต้นของอาร์ติโช้กสูงประมาณ 1 – 2 เมตร มีใบสีเขียวดอกมีลักษณะเป็นกลีบแข็งซ้อนกันแน่นหลายชั้น เป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกาเหนือ สามารถปลูกได้ทั่วไปในแถบอากาศเย็น เช่น เมดิเตอร์เรเนียน ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ ในประเทศเวียดนาม นิยมกินอาร์ติโช้กแบบสดและหั่นตากแห้ง แล้วทำเป็นชาชงดื่มเพื่อรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ ดร.เมฮ์เมต ออซ (Dr.Mehmet Oz) ศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อธิบายเพิ่มเติมว่าเนื่องจากอาร์ติโช้กมีสารอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ไม่ให้แคลอรี จึงช่วยยับยั้งการย่อยแป้งเป็นน้ำตาล มีผลช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จึงเหมาะสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน (น้ำตาลเปลี่ยนไปเป็นไขมันน้อยลง) ช่วยให้ร่างกายควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี 

นอกจากนี้อาร์ติโช้กยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้น้ำไม่คั่งในร่างกาย แถมลดความดันโลหิตได้ด้วย

 

วิธีไหนใกล้ตัวคุณมากที่สุดก็ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ บอกเลยว่า…การสยบเบาหวานนั้นไม่ยากอย่างที่คิดแน่นอน

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 395

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate