5 โรคเบาหวาน ที่คุณควรรู้ เป็นหรือเปล่า

5 โรคเบาหวาน ที่คุณควรรู้ เป็นหรือเปล่า

โรคเบาหวาน คือภาวะที่ค่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติและฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายมีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

คุณหมอ (ดร.ณิชมน สมันตรัฐ) จะอธิบายให้ละเอียดดังนี้คือ เวลาเรากินของหวานเข้าไป น้ำตาลจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วฮอร์โมนอินซูลินจะหลั่งออกมาเพื่อทำหน้าที่สั่งการให้กลูโคสเข้าไปช่วยเซลล์ต่างๆ ทำงานอย่างเป็นระบบ แต่เมื่อไรที่อินซูลินหลั่งออกมาไม่เพียงพอจะเรียกภาวะนั้นว่า “การขาดอินซูลิน” ซึ่งส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเพราะควบคุมไม่ได้ หรือในทางการแพทย์เรียกว่า “Insulin Dependent”

การวินิจฉัย โรคเบาหวาน ในอดีตทำโดย การเจาะเลือดดูค่าน้ำตาลและสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว เพื่อประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้แบ่งโรคเบาหวานเป็น 2 แบบ คือ

 

 

เบาหวานชนิดที่ 1 (Diabetes Immune-Mediated Type 1)

คือภาวะที่เซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย การทำงานของเซลล์ตับอ่อนจึงค่อยๆ ลดลง นอกจากนั้นยังพบอาการต่อต้านอินซูลิน และภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลย อันเนื่องมาจากเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินถูกทำลายนั่นเอง จากสถิติพบโรคเบาหวานประเภทนี้ในเด็กและผู้ใหญ่ที่อายุน้อย ซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลิน

อาการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายเซลล์ในตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนหยุดการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด เมื่อร่างกายไม่มีฮอร์โมนอินซูลินแล้วจะไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานได้ ทำให้น้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการฉีดอินซูลินทุกวันเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ

 

เบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes, Non Insulin Dependent Type 2)

เกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือบางคนมีภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลย และร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดนี้จึงมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคอ้วนโรคไขมันพอกตับ มักพบในผู้ป่วยอายุ 40 ขึ้นไป และเป็นเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด

วิธีธรรมชาติในการบำบัดรักษาโรคเบาหวานนั้นทำได้มากกว่าการดูค่าน้ำตาลในเลือดหรือแนวโน้มการเป็นเบาหวาน โดยเราสามารถพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของการเป็นเบาหวานร่วมด้วย

งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงใน Lancet Diabetes and Endocrinology Journal เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ทำการศึกษาวิจัยผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยดูจากสาเหตุของโรคและไลฟ์สไตล์ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน เช่น อายุ น้ำหนัก รวมถึงแอนติบอดี้ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง และสรุปผลการวิจัยโดยจัดหมวดหมู่โรคเบาหวานแบบใหม่เป็น 5 ประเภท ดังนี้

 

1. Severe Autoimmune Diabetes (SAID)

เป็นโรคเบาหวานที่เกิดการอักเสบ (Mistake) ของเซลล์ในตับอ่อนจึงไม่สามารถผลิตอินซูลินเองได้ตามธรรมชาติ แพทย์ต้องสั่งให้ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เด็ก และพบได้ประมาณร้อยละ 6.4 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

2. Severe Insulin-Deficient Diabetes (SIDD)

เป็นโรคเบาหวานที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เองตามธรรมชาติ เมื่อร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 18

 

3. Severe Insulin–Resistant Diabetes (SIRD)

โรคเบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือควบคุมอินซูลินไม่ได้เรียกว่า “Blood Sugar Insulin Resistant” ทำให้น้ำตาลไม่สามารถเข้าไปอยู่ในเซลล์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มนี้จะมีลักษณะอ้วนลงพุงน้ำหนักเกิน ไตเสื่อม ไขมันพอกตับ พบประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินที่ผิด

 

4. Mild-Obesity-Related Diabetes (MOD)

โรคเบาหวานที่เกิดจากความอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยดูจากค่า BMI (Body Mass Index) ค่ามาตรฐานของคนเอเชียคือ 23 เบาหวานประเภทนี้เกิดจากพฤติกรรมการกินและไลฟ์สไตล์ที่ผิด เช่นกินของหวานหรือแป้งขาวมากเกินไป ไม่ได้ออกกำลังกาย พบได้ประมาณร้อยละ 22 ของผู้ป่วยเบาหวาน

 

5. Mild-Age Related Diabetes (MARD)

โรคเบาหวานในผู้สูงอายุ มีงานวิจัยพบว่า อายุที่มากขึ้นสัมพันธ์กับระบบเผาผลาญที่เสื่อมลง ทำให้ระบบย่อยทำงานไม่ดี สังเกตจากคนสูงอายุมักจะท้องอืด อาหารไม่ย่อย และไม่มีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน ทำให้มีปัญหาระดับน้ำตาลสะสมมากเกินไป พบได้ประมาณร้อยละ 39
การรักษาโรคเบาหวานตามแนวทางธรรมชาติบำบัดนั้น เราจะวินิจฉัยโรคเบาหวานจากกระบวนการเกิดโรคโดยรวม ไม่ใช่ดูที่ปลายเหตุหรือค่าน้ำตาลที่ขึ้นสูงเท่านั้น

ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนทั้งไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมทั้งหมดทั้งเรื่องการกินอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และพยายามไม่เครียด

 

จาก คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัดกับ Dr.Nicha นิตยสารชีวจิต ฉบับ 482

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate