รู้หรือไม่ เดินต้านโรค เบาหวานได้นะ
ใครจะไปรู้ว่าวิธีง่ายๆ ที่เราทำในชีวิตประจำวันจะมีประโยชน์มากมาย อย่างการ เดินต้านโรค ที่เราจะแนะนำในวันนี้ เป็นเทคนิคจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนให้คนเดิน เพื่อลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังร้ายที่คุกคามคนในชาตินี้เป็นอันดับต้นๆ มาดูกันว่าเราต้องทำอย่างไรบ้าง
รู้จักกับเบาหวานกันเล็กน้อย
เบาหวาน (Diabetes Mellitus หรือ Diabetes) หรือเรียกย่อๆ ว่า โรคดีเอ็ม (DM) เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดชีวิต เกิดจากการที่ในเลือดมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ(มากกว่า 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
พบได้ในคนทุกวัยและทั้งสองเพศแต่จะพบมากขึ้นเมื่อสูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น จึงพบโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าในปีค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) จะมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 552 ล้านคน
“เดิน” หลังมื้ออาหาร เดินอย่างไร ลดเสี่ยงเบาหวานชนิด 2
ในปัจจุบัน ชาวอเมริกันเกือบ 26 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน และอีกราว 79 ล้านคนกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งล่าสุดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มแผนผลักดันให้มีการเดินหลังกินอาหาร เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ลอเรตตา ดิเปียโทร (Loretta Dipietro) หัวหน้างานวิจัยโรคเบาหวาน และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันกล่าวถึงการค้นพบที่จะช่วยชาวมะกันในครั้งนี้ว่า
“การเดินย่อยหลังกินข้าวเป็นเวลา 15 นาที มีส่วนช่วยยับยั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด”
ทั้งนี้ทีมงานของศาสตราจารย์ดิเปียโทรทำการวิจัยจากอาสาสมัครที่เป็นโรคอ้วนอายุเฉลี่ย 71 ปี จำนวน 10 คน ทุกคนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิด 2 หรือชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลินที่สามารถพบได้มากสุด
อาสาสมัครแต่ละคนต้องอยู่ในห้องเมแทบอลิซึม ซึ่งเป็นห้องพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทีมวิจัยได้ติดตามระดับแคลอรีที่ถูกเผาผลาญไป เป็นระยะเวลา 3 วัน
วันแรกของการวิจัยเรียกว่าวันควบคุม อาสาสมัครไม่ต้องทำกิจกรรมใดๆที่ต้องใช้ร่างกาย แต่วันที่สองพวกเขาต้องเดินบนลู่วิ่ง ด้วยระดับความเร็วปกติ15 – 30 นาทีหลังกินอาหารในแต่ละมื้อ
วันที่สาม อาสาสมัครต้องเดินเป็นเวลา 45 นาที ช่วง 10.30 น.หรือ 16.30 น.โดยที่อาสาสมัครทุกคนจะได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตลอดช่วงทำกิจกรรมทั้งสามวันอย่างต่อเนื่อง
เดินอย่างไร ให้ไกลโรค
หลังกินอาหารเสร็จ ให้รอประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นค่อยเดินด้วยความเร็วปกติราว 15 นาที คุณจะเห็นได้ว่า
การเดินย่อยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง และถ้าต้องการให้ได้ผลดีไปตลอด ควรทำให้เป็นกิจวัตร ซึ่งการเดินย่อยนี้ไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักหรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อแต่อย่างใด หากเป็นเพียงวิธีช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ผลการวิจัยของศาสตราจารย์ดิเปียโทรแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการเดินหลังมื้ออาหารวันละ 45 นาที ซึ่งถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิด 2 ควรเดินสักนิดช่วงหลังกินข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น เพราะวิธีนี้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้นานถึง 3 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
นอกจากงานวิจัยเรื่องนี้จะได้รับการผลักดันให้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประเทศอิตาลีก็มีวัฒนธรรมการเดินหลังกินข้าวที่เรียกว่า พาสเซอเจียตา (Passeggiata) ซึ่งช่วยย่อยอาหารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ศาสตราจารย์ดิเปียโทรเผยว่า งานวิจัยที่เธอและทีมงานได้ทำนี้ แสดงให้เห็นว่าการกำหนดเวลาสำหรับการเดินออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้นเพราะการเดินเกี่ยวข้องกับการขยับของกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate