“ฟอสฟอรัสสูง” มักเป็นปัญหาใหญ่ของคนเป็นโรคไต ที่หลงใหลในการกิน
เพราะอะไรที่อร่อย ๆ ค่าฟอสฟอรัสจะสูงทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็น ชอคโกแลต กาแฟ นม ถั่ว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ ขนมปัง เส้นบะหมี่ ไข่แดง และขนมกินเล่น ที่ใส่สารปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น
และที่สำคัญ “เราจะรู้สึกลุ้นทุกที เวลาเจาะเลือด แล้วรอพบคุณหมอเพื่อฟังว่ารอบนี้ ฟอสฟอรัสจะสูงไหม ค่าพาราไทรอยด์จะสูงหรือเปล่า?”
..หรือถ้าฟอสฟอรัสสูงมานาน พารพาไทรอยด์สูงปรี๊ดอยู่แล้ว ก็จะลุ้นแบบสุดตัวเลยว่า จะถูกนัดผ่าเมื่อไหร่ ?
วันนี้อายมีทางออกมาให้ค่ะ สำหรับคนเป็นโรคไต ทั้งระยะก่อนฟอกไต และกำลังฟอกไตอยู่ ที่ต้องคุมแร่ธาตุตัวสำคัญ อย่างฟอสฟอรัส มาฝากกันค่ะ
แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์กับคุณ หรือกับเพื่อน ๆ ของคุณ ช่วยแชร์กันไปได้เลยนะคะ อายจะขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ
1. ฟอกไตให้เพียงพอ **ระยะก่อนฟอกไต ข้อนี้ตัดทิ้งได้เลยค่ะ**
ความเพียงพอที่ว่า จะ ดูจาก ค่าประสิทธิภาพการฟอกไต หรือค่า Kt/V ที่คำนวณจากระดับยูเรียในเลือด อย่างน้อย ทุก 3 เดือน
จึงเป็นเหตุที่ว่า บางคนที่ฟอกไตอยู่ 2 ครั้ง ทำไมพี่พยาบาลถึงแนะนำให้ฟอกเป็น 3 ครั้ง ก็ประเมินจากค่านี้นี่แหละค่ะ
**ฟอก 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่า Kt/V ต้องไม่ต่ำกว่า 1.8
**ฟอก 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่า Kt/V ต้องไม่ต่ำกว่า 1.2
2. ทานยาจับฟอสเฟต
การกินยา ก็เหมือนกับเราส่งฟองน้ำ เข้าไปซับสารฟอสเฟต แล้วขับออกมาทางอุจจาระ เพื่อไม่ให้ร่างกาย ไปจับเอาฟอสเฟตเข้ามาในกระแสเลือด ทำให้ฟอสฟอรัสในเลือดเราต่ำ
โดยในหมวดยาจับฟอสฟอรัส (Phospate Binder) ก็จะมีอยู่หลายตัว เช่น Calcium carbonate, Calcium acetate, Aluminium hydroxide
ซึ่งคุณหมอจะจ่ายตัวไหนให้ ก็แล้วแต่ผลเลือดและอาการของแต่ละคน แต่ที่สำคัญคือ เราต้องกินยานี้ต่อเนื่อง ทุก ๆ มื้อด้วยนะคะ
3. เลือกทานอาหารฟอสฟอรัสต่ำ
ถ้าเป็นฟอสฟอรัสที่มาจากแหล่งธรรมชาติ ร่างกายจะดูดซึมได้ 50% หรือ ครึ่งนึง แปลว่า ถ้าเรากินอาหารที่มีฟอสฟอรัสเข้าไป 100 mg. ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 50 mg.
ตัวอย่างอาหาร พืชผัก ผลไม้ เนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง ไข่
ส่วนฟอสฟอรัสที่มาจากสารสังเคราะห์ หรืออาหารแปรรูป ร่างกายจะดูดซึมได้เกือบ 100% แปลว่า ถ้าเรากินอาหารที่มีฟอสฟอรัสเข้าไป 100 mg. ร่างกายก็จะดูดซึมได้ 100 mg. เลยค่ะ
ตัวอย่างอาหาร แฮม ไส้กรอก นักเก็ตไก่ ลูกชิ้นปลาระเบิด น้ำอัดลม ซุปก้อนต่าง ๆ
แถมท้าย !! แนะนำอาหารฟอสฟอรัสต่ำ พร้อมวิธีปรุงสำหรับโรคไตโดยเฉพาะ
**ใน 1 วัน ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับฟอสฟอรัส 800-1,000 mg.**
ผัดบวบใส่ไข่ มีฟอสฟอรัสเฉลี่ย 96 mg.
แกงจืดเต้าหู้หมูสับ มีฟอสฟอรัสเฉลี่ย 91 mg.
ไก่กระเทียมพริกไทย มีฟอสฟอรัสเฉลี่ย 153 mg.
ไก่ผัดขิงเห็ดหูหนู มีฟอสฟอรัสเฉลี่ย 55 mg.
ลาบไก่ มีฟอสฟอรัสเฉลี่ย 92 mg.
ส่วนของว่าง ที่ฟอสฟอรัสต่ำ เช่น
ซาหริ่ม, สาคูเปียก, ขนมครก, ขนมชั้น, แยมผลไม้, ขนมใส่ไส้
ข้าวเหนียวปิ้ง, กุยช่ายทอด, ข้าวต้มมัด, เค้กไข่ขาว
เมอแรงค์, คุกกี้โรคไต (สูตร Low Phosphorus) ฯลฯ
ถ้าใครทำ 3 เทคนิคนี้ได้ โดยเฉพาะข้อ 3 เรื่องการคุมอาหาร
คือ เลือกกินอาหารที่ฟอสฟอรัสต่ำอย่างมีวินัย ยังไงก็สุขภาพดี ผลเลือดดีได้แน่นอนเลยค่ะ
เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ ^^
อ่านจบแล้ว อย่าลืมแชร์บทความนี้ ให้คนที่คุณรักกันด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง :
คู่มือแนะนำปริมาณฟอสฟอรัสในอาหาร
http://www.ns.mahidol.ac.th
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณข้อมูลจาก kidneymeal