Q&A ตอบคำถามน้ำตาลกับสุขภาพ แล้วคุณจะรู้ว่าน้ำตาลไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป

Q&A ตอบคำถามน้ำตาลกับสุขภาพ แล้วคุณจะรู้ว่าน้ำตาลไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป

อาหารทุกชนิดจากธรรมชาติที่เข้าสู่ร่างกาย ล้วนมีทั้งประโยชน์และโทษ

ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด หากกินมากเกินไป กินน้อยเกินไป หรือกินไม่ถูกวิธี ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพในระยะยาวได้
น้ำตาลจากธรรมชาติก็เช่นกัน หากมองในด้านเดียว คือ กินปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย แน่นอนว่า น้ำตาลคือผู้ร้ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่หากรู้จักกินในปริมาณที่เหมาะสม และวิธีกินจะรู้ว่า แท้จริงแล้วน้ำตาลก็มีประโยชน์เช่นกัน

 

 

Q: น้ำตาลมีประโยชน์กับสมอง ?

A: จริง น้ำตาลจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดง ที่ผลิตมาจากอ้อยสด หรือน้ำตาลในผลไม้นานาชนิด หลังผ่านการย่อยร่างกายจะได้รับน้ำตาลที่นับว่ามีความสำคัญต่อรางกายชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่าน้ำตาลกลูโคส

 

น้ำตาลกลูโคสนี้เองที่มีบทบาทสำคัญต่อสมอง โดยน้ำตาลกลูโคสจะสลายเป็นพลังงานให้กับสมองอย่างต่อเนื่อง หากอดอาหารหรือจำกัดอาหารประเภทน้ำตาลแป้งและผลไม้จนระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำตาลกลูโคสจะเข้าสู่กระแสเลือดและสมองลดลง อาจส่งผลให้เกิดอาการกระวนกระวาย หงุดหงิด ปวดศีรษะ เส้นประสาทในสมองอาจทำงานบกพร่องจนเกิดอาการชักและมีอาการรุนแรงในที่สุด

 

 

Q: กินน้ำตาลจากผลไม้ดีกว่าน้ำตาลขัดขาว ?

A: จริง น้ำตาลจากผลไม้ดีกว่าน้ำตาลขัดขาว เพราะกินผลไม้สดไม่เพียงร่างกายจะได้รับน้ำตาลยังได้รับสารอาหารอื่นร่วมด้วย เช่น วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร โดยใยอาหารนี้ มีส่วนช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่น้ำตาลขัดขาวไม่มีสารอาหารอื่นให้แต่พลังงานเพียงอย่างเดียว ทั้งยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วกว่าหลังกิน

 

แต่สำหรับในบางกรณีที่ร่างกายต้องการได้รับน้ำตาลอย่างเร่งด่วน น้ำตาลขัดขาวมีจำเป็นเพราะดูดซึมได้รวดเร็วกว่า เช่น อาการท้องเสีย จึงมีคำแนะนำให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือผ่านทางอุจจาระและการอาเจียน

 

Q: ผู้ป่วยโรคเบาหวานกินน้ำตาลได้หรือไม่ ?

A: กินได้ โดยน้ำตาลในที่นี้ หมายรวมถึงอาหารอื่นๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรต (ซึ่งจะผ่านการย่อยเป็นน้ำตาลเมื่อเข้าสู่ร่างกาย) และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น อาหารประเภทข้าวแป้ง ผลไม้สด

 

โดยคำแนะนำการกินน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานจะขึ้นอยู่กับปริมาณอินซูลินที่ได้รับ สภาวะของโรค โรคแทรกซ้อน รวมถึงลักษณะของอาหารประจำวันของแต่ละบุคคล โดยแพทย์และนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ กำหนดปริมาณ และปรับให้เหมาะสมตามแต่ละบุคคล

 

Q: ผู้ป่วยโรคมะเร็งกินน้ำตาลได้หรือไม่ ?

A: กินได้ ผู้ป่วยอาจกังวลว่ากินน้ำตาลหรือกินอาหารมากเกินไปอาจส่งผลร้ายต่อเซลล์มะเร็ง แต่สิ่งที่แพทย์กังวลยิ่งกว่าคือกลัวว่าผู้ป่วยจะได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะหากผู้ป่วยจำกัดอาหารมากเกินไปไม่ว่าอาหารกลุ่มใดก็ตาม อาจมีผลให้ร่างกายขาดพลังงานและสารอาหาร ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ร่ายกายไม่สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อนซ้ำเติมผู้ป่วยตามมาอีกด้วย

 

ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเน้นอาหารสดสะอาด เช่น เลือกกินน้ำตาลจากข้าวแป้งไม่ขัดขาว ผลไม้สดซึ่งผ่านการล้างสะอาดปราศจากสารเคมี หลีกเลี่ยงความหวานจากอาหารหมักดองหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ที่อาจมีส่วนผสมของสารกันเสียและสารเคมี

 

Q: เด็กและผู้สูงอายุกินน้ำตาลได้หรือไม่ ?

A: กินได้ โดยข้อมูลจากธงโภชนาการ ประเทศไทย เน้นให้กินน้ำตาลเติมแต่น้อยโดย ในเด็กไม่ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลอย่างชัดเจน แต่แนะนำให้กินอาหารลดหวานแต่น้อยหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลตั้งแต่เด็ก เช่น เน้นให้ดื่มนมรสจืด แทนนมรสหวาน กินน้ำตาลจากผลไม้สดแทนของหวาน เช่น กินส้มทั้งลูก แทนน้ำหวานแต่งกลิ่นรสส้ม เพื่อลดโอกาสฟันผุ และติดรสหวานซึ่งอาจมีผลให้กินรสหวานเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต

 

ส่วนผู้สูงอายุ แนะนำให้กินน้ำตาลแต่น้อย โดยกินน้ำตาลเติมไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ควรเน้นรสหวานจากผลไม้สดแทนน้ำตาลขัดขาวหรือผลไม้แปรรูปในสัดส่วนที่เหมาะสม

 

Q: ถ้ารู้ตัวว่าใน 1 วัน กินอาหารที่มีน้ำตาลสูงเกินไปควรทำอย่างไร ?

A: วางแผนการกินใหม่ในวันถัดไป หากต้องการมีสุขภาพที่ดี และต้องการลดปริมาณน้ำตาลอย่างจริงจัง แนะนำให้เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ง่ายและทำเป็นกิจวัตร เช่น หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม ดื่มน้ำคั้นผลไม้ที่ไม่เติมน้ำตาล กินผลไม้สดเลี่ยงผลไม้แปรรูปที่มีน้ำตาลสูง

 

การพยายามออกกำลังกายเฉพาะในวันที่รู้ตัวว่ากินน้ำตาลมากเกินพอดี มีการศึกษาที่พบว่า แม้ช่วยเผาผลาญพลังงานบางส่วน แต่หลังออกกำลังกายมีแนวโน้มที่จะกินน้ำตาลและอาหารหวานมากขึ้นและอาจมากกว่าพลังงานที่เพิ่งเผาผลาญไปเสียอีก

 

สุขภาพดีเราเลือกได้ เพียงเลือกแหล่งน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพ กินในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งไม่ลืม กินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย เพื่อร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน

 

บทความโดย: ธิษณา เจษฎาวรางกูล นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (Certified Dietitian of Thailand: CDT)

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate