เด็กและวัยรุ่น ป่วยเบาหวานได้จริงหรือ
วันนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องโรคเบาหวานเช่นเคยค่ะ หลายคนคงคุ้นเคยกันว่าเป็นโรคของคนสูงอายุ เป็นโรคเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นเมื่ออายุเริ่มมาก เราอยากให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ค่ะ เพราะเด็กและวัยรุ่น ก็สามารถเป็น ผู้ป่วยเบาหวาน ได้ โดยเราจะหยิบยกบทความสุขภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.พญ.ไพรัลยา นาควัชระ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มาให้อ่านกันค่ะ
อาการที่ไม่อาจมองข้าม
“เคยไหมกินจุแต่กลับผอมลง ปวดปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อยและมีภาวะขาดน้ำ? …
ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติเวลาเรารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน โดยการนำเข้าไปในเซลล์หรือหน่วยเล็ก ๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์ คือ ฮอร์โมนอินสูลิน (Insulin) ที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน ในผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ “โรคเบาหวาน” กล่าวคือ ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ และหากมีอาการรุนแรง ร่างกายจะสลายไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล สารที่ได้เรียกว่า “กรดคีโตน” ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก
โรคเบาหวานกับวัยรุ่นและเด็ก
รู้มั้ย ?…“เบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็เป็นเบาหวานได้”
ชนิดของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
จริง ๆ แล้วมีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 ชนิดหลัก คือ
1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 DM)
เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินสูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินสูลินได้ (ร่างกายขาดอินสูลิน) เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ มักมีอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด
สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น รักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินสูลินเข้าผิวหนัง ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาด และยังไม่พบวิธีที่จะป้องกัน แพทย์และนักวิจัยกำลังพยายามหาวิธีป้องกันในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป
2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 DM)
การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มของอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็ก ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย เด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เด็กอ้วนและกำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี เช่นกัน
เด็กอ้วนจะมีเซลล์ไขมันจำนวนมาก เซลล์ไขมันเหล่านี้จะปล่อยสารต่าง ๆ เช่น กรดไขมันออกมาทำให้ร่างกายดื้อต่ออินสูลิน หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า “อินสูลินที่มีอยู่ไม่สามารถออกฤทธิ์นำน้ำตาลเข้าเซลล์ไปใช้ให้เกิดพลังงานได้ตามปกติ” ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็น “โรคเบาหวาน” นั่นเอง
โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใด ๆ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้อาจตรวจพบล่าช้า
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2
– มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
– มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน
– คนเชื้อชาติเอเชีย
– มีปื้นดำหนา ๆ ที่คอ เรียกว่า อะแคนโทสิส (Acanthosis negrican)
การป้องกันเบาหวาน
– เบาหวานชนิดที่ 1 ขณะนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน
– เบาหวานชนิดที่ 2 พยายามให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้
ลดอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไก่ทอด นมเปรี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง, ขนมถุงกรุบกรอบ
และควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอ้วน
เมื่อใดควรมาพบแพทย์
1. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน
• ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ
• กินจุ ผอมลง
• ปัสสาวะมีมดตอม
• เป็นแผลหายช้า
• ติดเชื้อที่ผิวหนัง
2. ถ้าเด็กหรือวัยรุ่นอ้วน และมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวาน
3. มีปื้นดำที่คอ
ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลบุตรหลานว่ามีอาการ 1 ใน 3 ข้อนี้หรือไม่ ถ้าพบควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วิธีการตรวจหาเบาหวาน
ตรวจจากเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มากกว่า หรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็น “เบาหวาน” หรือถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหาร หรือ หลังกินน้ำตาล (ตามแพทย์สั่ง) เป็นเวลา 2 ชม. มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเป็นเบาหวานเช่นกัน
ลองสังเกตดูนะคะว่าบุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคตค่ะ
ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate