ทำความรู้จัก ‘อาการทางจิต’ ที่อาจเกิดขึ้น หากคุณป่วยโรคสมองเสื่อม

ทำความรู้จัก ‘อาการทางจิต’ ที่อาจเกิดขึ้น หากคุณป่วยโรคสมองเสื่อม

โรคภัยต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากร่างกายเสื่อมสภาพลง

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ผิดๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น รวมถึงอายุที่มากขึ้นและไม่ได้ดูแลป้องกันตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสม หนึ่งในโรคที่เรามักพบบ่อยคือ โรคสมองเสื่อม และอาการทางจิตที่อาจเกิดตามมา

 

โรคสมองเสื่อม กับอาการทางจิต

ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์และความผิดปกติทางจิตในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (Behavioral and psychological symptoms of dementia , BPSD ) เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติของการรับรู้ ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรม ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

 

โดยจะพบอาการ BPSD ได้แตกต่างกันไปตามระยะความรุนแรงของโรคสมองเสื่อม เมื่อความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น จะพบชนิดและความรุนแรงของอาการ BPSD เพิ่มขึ้นด้วย และอาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นเป็นระยะแล้วหายไป แต่บางอาการเกิดขึ้นแล้วคงอยู่เป็นเวลานาน โดยอาจตรวจไม่พบทุกครั้ง

อาการ BPSD มักจะสร้างปัญหาให้ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยมากกว่าอาการจากโรคสมองเสื่อมโดยตรง ทำให้ผู้ดูแลบางรายรู้สึกว่าผู้ป่วยเป็นภาระ และอาจเกิดภาวะซึมเศร้าตามมา ผู้ป่วยบางรายอาจถูกทอดทิ้ง เนื่องจากผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจในอาการป่วย

 

หากผู้ดูแล ลูกหรือญาติของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม มีความรู้ความเข้าใจในอาการของ BPSD อย่างถูกต้อง จะเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งของผู้ป่วยและคนรอบข้างได้

กลุ่มอาการทางจิตที่อาจเกิดขึ้น

 

1. กลุ่มอาการด้านอารมณ์ (mood symptom) เช่น อาการซึมเศร้า และวิตกกังวล โดยอาการซึมเศร้ามักพบในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีอาการน้อย อาการทางด้านอารมณ์ที่พบบ่อยคือ ความเฉย ขาดความกระตือรือร้นล้น และไม่แสดงออกทางอารมณ์ หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ รู้สึกไม่ค่อยมีความสุข และความมั่นใจในตนเองลดลง ส่วนอาการวิตกกังวล มักพบในผู้ป่วยสมองเสื่อมขั้นรุนแรง

 

2. กลุ่มอาการโรคจิต (psychotic symptoms) มักพบอาการหลงผิด เข้าใจผิด และอาการประสาทหลอนในผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะรุนแรง เช่น คิดว่ามีคนจะมาทำร้ายตนเอง มีคนมาปลอมตัวเป็นญาติ มีคนแปลกหน้าอยู่ในบ้าน หรือมีคนจะขโมยสิ่งของของตน คิดว่าคนรักนอกใจ สำหรับอาการประสาทหลอน คือ ผู้ป่วยมักได้ยินเสียงหรือเห็นภาพของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือได้ยินเสียงของบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในห้อง ได้ยินเสียงที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง

 

3. กลุ่มอาการ vegetative มักแสดงออกด้วยอาการกระวนกระวายแต่ไม่ก้าวร้าว เช่น แต่งกายไม่เหมาะสมกับโอกาส เปลื้องผ้าในที่สาธารณะ ลุกเดินตอนกลางคืน พยายามหนีออกจากบ้านหรือสถานที่ดูแล การเดินไปมาแบบไร้จุดหมาย มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อมรุนแรง อาจมีพฤติกรรมพูดซ้ำๆ ถามซ้ำๆ บ่น หรือเรียกร้องความสนใจเกินควร นอกจากนั้นยังมีปัญหาการนอน โดยผู้ป่วยมักจะงีบหลับในช่วงกลางวัน หลับไม่สนิทและตื่นบ่อยในช่วงกลางคืน แล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้

 

4. กลุ่มอาการอื่นๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

 

การก้าวร้าว เช่น การ ตี เตะ ข่วน ขว้างปาข้าวของ กัด ถ่มน้ำลาย พูดหยาบคาย พูดสาปแช่งคนอื่น มักพบในผู้ป่วยสมองเสื่อมขั้นรุนแรง

 

หงุดหงิดง่าย ขาดความยับยั้งชั่งใจ โดยอารมณ์หงุดหงิดมักแสดงออกโดยการ มุ่ยหน้า นิ่งเงียบไม่พูด หรือส่งเสียงดังด้วยความโกรธ ส่วนอาการของการขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น การแสดงความเป็นมิตรมากเกินไป การแสดงความเห็นโดยไม่ถูกกาลเทศะ การควบคุมพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น การอวดอวัยวะเพศตนเอง พูดจาแทะโลมหรือล่วงเกินทางเพศหรือสัมผัสตัวผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม

 

อาการเหล่านี้ อาจทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ร่วมมือในการรักษา และอาจเกิดปัญหาอื่นตามมาได้ เช่น ทำผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกเหนื่อยหน่าย เป็นโรคซึมเศร้า หรือความสมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแลย่ำแย่ ผู้ป่วยอาจโดนทอดทิ้ง หรือผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าตัวองเป็นภาระและอาจเกิดภาวะซึมเศร้าตามมา

 

 

การรักษา

แนวทางการรักษา BPSD ที่ดีที่สุดคือ การพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการก่อน หลังจากนั้นจึงให้การรักษาโดยไม่ใช้ยา หากยังไม่ได้ผลจึงค่อยพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เป็นการใช้ยาตามความจำเป็น ตามอาการของโรค

 

ปัญหาด้านพฤติกรรมอารมณ์และจิตใจในผู้ป่วยสมองเสื่อม (BPSD) เป็นปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ และจิตใจ พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้รักษาอาการ BPSDโดยเฉพาะ

 

สิ่งสำคัญคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับอาการ BPSD และภาวะสมองเสื่อมให้แก่ญาติและผู้ดูแลเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพื่อทราบวิธีในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

 

 

ข้อมูลโดย แพทย์หญิงกานติ์ชนิต ผลประไพ แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า


ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate